นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำแนวทางแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต้องป้องกันปลูกจิตสำนึกควบคู่การ ปราบปรามและการให้บริการจดสิทธิบัตร

ข่าวทั่วไป Thursday February 11, 2016 14:13 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คทป.) เน้นย้ำแนวทางแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต้องป้องกันปลูกจิตสำนึกควบคู่การ ปราบปรามและการให้บริการจดสิทธิบัตร

วันนี้ (11ก.พ.59) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คทป.) ครั้งที่ 1/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมกับประชาคมโลกช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวประเทศไทยได้มีการดำเนินการแก้ไขมาตลอดในระยะเวลากว่า 10 ปี แต่วันนี้ต้องเร่งขับเคลื่อนให้มีความรวดเร็วขึ้นเพื่อให้ทันกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และต้องดำเนินการตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว 3 ข้อหลักที่สิ่งสำคัญ คือ 1) การป้องกันด้วยการปลูกจิตสำนึก ที่ไม่ใช้ของปลอมและเข้าใจถึงข้อกฎหมายที่บังคับใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งต้องสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมสินค้าโอท็อปให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสินค้าไทยทำได้ดีแล้วเพียงแต่ต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักติดตลาดและเป็นที่นิยม รวมทั้งต้องพิจารณากำลังซื้อของแต่ละคน หากไม่สามารถซื้อสินค้าแบรนด์ดังได้ก็ต้องไม่ใช้ของปลอม และจะต้องมีการพิจารณามาตรการสำหรับผู้ใช้ของปลอมด้วยนอกเหนือจากมาตรการกับผู้จำหน่ายสิ้นค้า

2) การปราบปราม ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานครที่ต้องดูแลในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งต้องพิจารณาว่ากฎหมายมีเพียงพอหรือไม่ หากมีแล้วสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ซึ่งทั้งหมดต้องทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เพราะหากไม่สามารถทำได้จะไม่ผ่านการรับรองของต่างประเทศ อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าแม้จะมีกฎหมายแรงที่สุดแล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนไทยไม่ชอบกฎหมาย เป็นคนรักอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตยและการอ้างถึงหลักสิทธิมนุษยชน

3) การให้บริการการจดสิทธิบัตร ซึ่งขณะนี้มีเรื่องค้างอยู่ประมาณ 10,000 รายการ จึงต้องหาแนวทางเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่งได้สั่งการเรื่องนี้ในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ด้าน นางนันทวัลย์ ศุกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการหารือพิจารณาประเด็นสำคัญในหลายเรื่อง อาทิ แนวทางการดำเนินการคุ้มครองปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอยู่ในมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หากไทยมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่ดีพออาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องการดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ที่ประเทศไทยมีความมุ่งหวังจะสร้างความเติมโตทางเศรษฐกิจจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก เนื่องจากต่างประเทศมีข้อกังวลต่อเรื่องดังกล่าวกรณีมีการตรวจพบว่าไทยมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีการขโมยสัญญาณเคเบิล ดาวเทียม การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญหาไม่ส่งผลยับยั้งหรือยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ ขณะที่เรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้าก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทยออกมาจำนวนมากซึ่งต้องได้รับการจดสิทธิบัตรจึงจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตรไม่เพียงพอทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ค้างอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้นที่ประชุมจึงได้เสนอให้กลับพิจารณาเกี่ยวกับอัตรากำลังบุคลากรให้เพียงพอและสอดคล้องกับงานก่อนนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ หากกระทรวงหรือหน่วยงานภาครัฐจะออกกฎหมายในเรื่องใดออกมาขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มให้เพียงพอก่อนดำเนินการ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการมีการนำความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาสอดแทรกหรือบรรจุในการเรียนการสอนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญาป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่เด็ก รวมถึงได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านทรัพย์สินทางปัญหาของไทยเพื่อรองรับการเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศ (ปัจจุบันองค์การระหว่างประเทศที่กำกับดูความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญามี 3 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์การการค้าโลก องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และสภาพการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) เช่น การเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) การจัดอันดับสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผ่านมาตรา 301 ของสหรัฐฯ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิค (TPP) ฯลฯ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์และจัดทำสรุปการเตรียมการของไทย เพื่อรองรับการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP และ TPP ซึ่งรวมถึงกฎหมายหรือระเบียบที่ต้องแก้ไขและข้อเสนอการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรายงานผลให้ คปท.ทราบในการประชุมครั้งต่อไป

-------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ