วันที่ ( 15 ก.พ. 2559 ) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลังใหม่) ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติครั้งที่ 1/2559 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องโดยมี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการและนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการซึ่งสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 พร้อมแผนปฏิบัติการกำจัดโรคมาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทยพบว่า อัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มลดลงโดยพบว่า อัตราป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียจากอัตราประชากร 1,000 ราย ลดลงเป็น 0.38 ในปี 2559 และในปีงบประมาณ 2558 พบว่าการกระจายของผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียมีผู้ป่วยเป็นคนไทยคิดเป็นร้อยละ 57.69 และผู้ป่วยต่างชาติร้อยละ 43.38 ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยวัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) ซึ่งจังหวัดที่พบมากที่สุดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดตาก อุบลราชธานี ยะลา กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นราธิวาส สงขลา สุราษฎร์ธานี และสุรินทร์
สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียนั้น ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดดำเนินการควบคุมป้องกันโรคนี้ให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ส่งผลให้อุบัติการณ์โรคนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างดียิ่ง โดยประเทศไทยมีความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยการเป็นภาคีการดำเนินงานกำจัดโรคนี้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านสาธารณสุขตามแนวนโยบายขององค์การสหประชาชาติ
หลักคิดสำคัญตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการเร่งรัดดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่แพร่เชื้อนี้อย่างเข้มข้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาตรการและรูปแบบที่เหมาะสมในการกำจัดโรคนี้อีกทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคนี้เพื่อมีสุขภาพที่ดี ลดค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปสู่แผนปฏิบัติการ ด้วยหลักการจัดแบ่งพื้นที่ในการปฏิบัติการเช่นระดับหมู่บ้านในส่วนที่มีการแพร่เชื้อตลอดทั้งปี พื้นที่บางฤดูกาล พื้นที่ไม่มีการแพร่เชื้อซึ่งมีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่ำ โดยพบว่าภายหลังการแบ่งพื้นที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดในระดับหมู่บ้านแล้วขั้นตอนต่อไปจะมีการจัดแบ่งประชากรตามระดับความเสี่ยงต่อโรคและพฤติกรรม เพื่อคัดเลือกมาตรการที่เหมาะสมกับประชากรแต่ละกลุ่มให้สามารถกำจัดโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนมีหน่วยงานเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ประกอบด้วยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วยวิธีการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตลอดจนประสาน สนับสนุน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ แผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทยระหว่างปี งบประมาณ 2560-2564 รวมเป็นวงเงินประมาณกว่า 2,283 ล้านบาทโดยหวังว่าภายในปี 2567 (ค.ศ.2024) ประเทศไทยจะปลอดจากโรคไข้มาลาเรีย (Malaria Elimination)
********************************
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
อภิวัฒน์ / รายงาน
ดวงใจ / ตรวจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th