นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลง ย้ำความร่วมมือเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ พร้อมเสนอแนวทางการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2016 15:44 —สำนักโฆษก

วันนี้ (15 ก.พ. 59) เวลา 15.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ซันนีแลนด์ เมืองรานโช มิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 1 (Retreat I) การประชุม สุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ และได้กล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ “การส่งเสริมความมั่นคั่งของภูมิภาค โดยผ่านนวัตกรรมและการประกอบการ” (Promoting Regional Prosperity Through Innovation and Entrepreneurship) เน้นความเป็นหุ้นส่วนเพื่อประชาชนและความเป็นหุ้นส่วนแห่งอนาคต โดยพลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งนี้ เน้นย้ำความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับอาเซียนผ่านการดำเนินนโยบายปรับสมดุล หรือ “Rebalancing” ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนหลักของอาเซียนและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค และอาเซียนได้เป็นประชาคมแล้ว และ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ สหรัฐฯ จะสนับสนุนการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่ง รวมทั้งความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค

ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้าง ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ให้เข้มแข็งและครอบคลุมทุกมิติ ไม่เพียงด้านการเมืองและความมั่นคง แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้วย โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ดังนั้น ขอเสนอแนวทางที่สหรัฐฯ จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้

ประการแรก ในปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับปัญหาจากการชะลอตัวและความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ดังจะเห็นได้จากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ และการไหลเวียนของเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต (Emerging Economies) และโดยที่เศรษฐกิจโลกมีสภาวะการพึ่งพากันและกันมากขึ้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอื่นๆ ในวงกว้างในระดับประชาชน ดังนั้น อาเซียนกับสหรัฐฯ จำเป็นต้องหารือแนวทางในการเผชิญกับปัญหานี้ร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยทุกฝ่ายควรดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างระหว่างกันให้มากขึ้น

แนวทางสำคัญอีกประการหนึ่งในการรับมือกับปัญหานี้ คือ การสร้างบรรยากาศทางการค้าที่ส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจในกรอบ RCEP (อาร์เสป) และ TPP (ทีพีพี) สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ และเพื่อให้สามารถบรรลุการจัดทำ FTAAP (เอฟแทป) ได้ต่อไป ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ จะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดในการรองรับกฎระเบียบที่มีมาตรฐานสูง ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

ไทยสนับสนุนให้มีการจัดทำ RCEP เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ในขณะเดียวกัน ไทยก็สนใจและติดตามพัฒนาการของ TPP อย่างใกล้ชิด โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อการเข้าร่วม TPP ซึ่งจะรายงานผลการศึกษาภายในเดือนนี้ โดยจะหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สอง เพื่อสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เราควรเร่งร่วมมือเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการลดอุปสรรคทางการค้า การปรับประสานกฎระเบียบ การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการส่งเสริมการลงทุนสองทาง

ทั้งสองฝ่ายควรเร่งสานต่อการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีอยู่ โดยเฉพาะกรอบ Trade and Investment Framework Arrangement หรือ TIFA (ทิฟ่า) และ Expanded Economic Engagement หรือ E3 (อีสาม) ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การสร้างกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่มีมาตรฐานสูง และเป็นการพัฒนาศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม

          นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมผลสำเร็จที่ผ่านมา โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเทคนิค อาทิ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในกรอบ Trade and Environment Dialogue ภายใต้ E3 ซึ่งได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ         เรื่องการประมง IUU

ไทยสนับสนุนให้อาเซียนและสหรัฐฯ ดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบ E3 อย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ต่อไป รวมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือทางเทคนิคเช่นนี้ให้ครอบคลุมปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น การลักลอบค้าสัตว์ป่าและการค้าไม้ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ประการที่สาม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราควรขยายความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG (เอสดีจี) โดยเน้นนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสนับสนุนให้สหรัฐฯ ขยายบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือทั้งด้านเงินทุนและเทคนิค ทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยในส่วนของไทย เราให้ความสำคัญ เป็นลำดับต้นต่อการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางที่ผมเสนอมาทั้งหมดนี้ เป็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายหลักในการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้หยิบยกถึงความร่วมมือเพื่อความหุ้นส่วนเพื่ออนาคตนั้น โดยนายกรัฐมนตรีได้ กล่าวแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ว่า

แนวโน้มด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะในแง่ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนความเจริญเติบโตและ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่นี้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทีสำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และของโลกสำหรับหุ้นส่วนเพื่ออนาคตระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ จะต้องครอบคลุมในด้านต่างๆ ดังนี้ ประการที่หนึ่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ให้สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยินดีที่สหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของอาเซียน เพราะความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ในด้านการส่งเสริมผลิตภาพ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการเข้าสู่ตลาด และความเป็นสากล จะช่วยพัฒนา SMEs ของอาเซียนให้ก้าวไกลได้ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจและผู้ประกอบการ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และถ่ายโอนเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง และขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการสตรี ทั้งในกรอบอาเซียนและ Lower Mekong Initiative (LMI)ประการที่สอง เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ และแข่งขันกับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจของสหรัฐฯ จึงจะต้องมีการขยายความร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมดิจิทัลในสหรัฐฯ และเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนพิจารณาให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนา การถ่ายโอนเทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต รวมทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจสมัยใหม่

ประการที่สาม คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีก้าวหน้าและนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานสะอาด การเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดาวเทียมและอวกาศ ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับความก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้คือการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM (สเต็ม) ทั้งน้ สหรัฐฯ กับอาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านนี้เพื่อปูทางสู่อนาคตร่วมกัน โดยเน้นกลุ่มเยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ปัจจุบัน ไทยและสหรัฐฯ มีกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ระหว่างกัน ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผมจึงขอเสนอว่า อาเซียนกับสหรัฐฯ อาจพิจารณาแนวทางในการขยายความร่วมมือในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อสนับสนุนการสร้าง “Creative ASEAN” และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเชื่อมั่นในตอนท้ายว่า แนวทางทั้งหมดนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคต เพื่อนำไปสู่โอกาส ผลประโยชน์ และความมั่งคั่งร่วมกันอย่างยั่งยืนของทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ ต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ