นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลใหม่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ คู่ขนานนโยบายของแต่ละพรรค

ข่าวทั่วไป Tuesday February 23, 2016 15:48 —สำนักโฆษก

วันนี้ (23 ก.พ. 59) เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีโดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความชัดเจนต่อข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อที่ระบุว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นสองช่วง

ว่า ถ้าใช้คำพูดว่าเป็นขยัก อาจจะผิด อาจจะทำให้งง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญสองฉบับ รัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดคือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสองร้อยกว่ามาตรา ซึ่งความหมายตรงนี้คือบทเฉพาะกาล คือถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องมีการปฏิรูปในช่วงระยะเวลาแรกที่เปลี่ยนผ่าน มันควรจะต้องมีระยะเวลาหรือไม่ บทนั้นบทนี้ยกเว้นเป็นกาลชั่วคราวได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้หมด เพราะในรัฐธรรมนูญก็ต้องพูดถึงกระบวนการทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมาแล้วมันก็เกิดปัญหา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ฉะนั้นในช่วงแรกจะสร้างความเข้าใจว่า วาระประเทศชาติจะมั่นคงแข็งแรงภายในรัฐบาลหน้า โดยช่วงนี้ก็ต้องมีการปรับวิธีการบริหารราชการ แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด เช่น เรื่องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จำเป็นหรือไม่ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในช่วงนี้ และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงกรอบงานกว้าง ๆ ซึ่งจะไปทำอย่างไร เพื่อให้ลงไปสู่วิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตาม

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันนี้เรามองระยะยาวใน 20 ปี ส่วนแผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดต่อไป จะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องทำตามนี้ด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนโยบายพรรค เพราะบางทีไม่มีไกด์ตรงนี้ ก็เดินไปซ้ายขวา แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองก็วุ่นไปหมด ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลเดินสองทาง ก็จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกันการเมืองก็เดินคู่ขนานไปด้วย แต่ถ้าจะถามว่าต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ ก็ต้องมีและต้องมีอะไรสักอย่างเพื่อที่จะควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่ หรือจะเป็น ส.ว. หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลไก ที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่โดยการเปิดอภิปรายการทำงานของรัฐบาลว่าทำอะไรบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหรือเปล่า ตรงนี้ไม่รู้

“มันไม่ใช่สองขยักสามขยักหรอก ขยักเดียวนั่นแหล่ะ เพียงแต่ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาสถานการณ์ปกติ ก็กลับมาทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้ามันต้องเกิดความมั่นใจให้เรา ไม่ใช่เพื่อผม แต่เพื่อท่านทุกคนเข้าใจหรือยัง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังการเลือกตั้งรัฐบาลนี้จะยังอยู่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังเลือกตั้ง ตนจะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่รู้ เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิจารณามา ซึ่งคิดว่าตนก็ทำไว้ให้เยอะแล้ว ก็ไปคิดกันมาบ้าง ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านก็ภายใน 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีอๆ ก็ผ่อนผันลดลงไป เข้ากลไกปกติ ทำไปตามที่เราวางไว้ไม่เห็นจะยาก ถ้ามันดี และถ้าเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลจะง่ายกว่าตรงที่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่ถ้าใส่ในรัฐธรรมนูญก็ลำบาก นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขอความชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 4 - 5 ปีนั้น หมายถึง คสช. จะยังอยู่ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนจะอยู่ไปทำไม แต่เขาจะมีวิธีการอื่น แต่หากอยู่ด้วยกลไกปกติ ก็อยู่ไปตนถึงได้บอกว่าจะมีคณะ จะไม่มี หรือจะมีวิธีการไหนก็ไปว่ามา

“ไม่ใช่ว่าผมจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งสนใจกับผมมากนัก ผมมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ท่านก็คิดกันต่อสิจะเอาอย่างไร และท่านอย่ามาโทษผม ว่าทำไม่เรียบร้อยไม่สำเร็จ อย่ามาโทษผมแบบนั้น ท่านอยากให้เป็นอย่างไร อยู่ที่ท่านกำหนดของท่านเองทั้งนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

---------------------------------------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ