วันนี้ (24 ก.พ.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องหารือคือการบริหารจัดการข้าว ทั้งข้าวเก่าและข้าวใหม่ รวมถึงราคาข้าวและคดีที่เกี่ยวข้องกับข้าวเก่า จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจน มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนเข้าใจสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวเป็นอย่างดี ว่าเราต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่มีผลกระทบกับข้าวในฤดูกาลใหม่ และขายข้าวเก่าให้ได้ราคามากที่สุด ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังเรื่องการระบายข้าวออกสู่ตลาด โดยต้องไม่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในอนาคต ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาข้าวจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบและนำไปบังคับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้คลี่คลาย
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีเผยว่า ประเด็นหลักของการประชุมวันนี้เรื่องสำคัญที่ต้องการให้ทราบคือการทำแผนข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงกระบวนการบริหารจัดการการผลิต ไปสู่การตลาด ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง โดยจะวางเป็นยุทธศาสตร์ข้าวระยะ 20 ปี ระยะแรกจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในแผนการปฏิรูปให้รัฐบาลชุดต่อไปเดินหน้าทำต่อ แผนดังกล่าวหากสามารถเริ่มต้นได้ก็จะให้ทำต่อในเรื่องยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ครบวงจร การทำงานจะต้องคิดแบบนี้ ถ้าไม่คิดแบบนี้ก็จะไปไม่ได้ โดยแผนงานจะต้องสอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำซึ่งมีต้นทุนอยู่จำกัด และพื้นที่ที่แตกต่างกันต้องมีความเหมาะสมในการปลูกพืช นอกจากนี้จะสนับสนุนผู้ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช เพราะเราต้องการลดปริมาณการผลิตข้าว โดยปีนี้ต้องผลิตข้าวที่ 25 ล้านตัน ไม่เช่นนั้นปริมาณข้าวจะมากเกินไป แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ต้องบวกอีก 8 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องปลูกเผื่อปัญหาภัยแล้งด้วย ทำให้ต้องปลูกข้าวประมาณ 27 ล้านตัน ส่วนที่ผ่านมาข้าวที่ปลูกเกินมาประมาณ 30 กว่าล้านตันนั้น จะต้องหามาตรการสร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช แต่ไม่ใช่เป็นการบังคับ
ด้านนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งมีที่มาจาก มติ นบข. เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.58 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานระยะสั้นในด้านการผลิตและการตลาดข้าวในช่วง 6,12,18 เดือน และทบทวนยุทธศาสตร์สินค้าข้าว ระยะเวลาช่วงละ 5 ปี เป็นยุทธศาสตร์กระทรวงและหน่วยงานระดับกรม เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิรูปภาคการเกษตรระยะยาว 20 ปี โดยคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ได้แต่งตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร ระยะ 18 เดือน ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการผลิตข้าว ปีการผลิต 2559/2560 ทั้งนาปี นาปรัง ให้ครบวงจรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จและรายงาน นบข. ภายใน 1 เดือน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้วิเคราะห์สภาพปัจจุบันในตลาดข้าว พบว่ามีปัญหา 6 ด้าน คือด้านอุปสงค์/อุปทาน ด้านความเป็นธรรม ด้านมาตรฐาน ด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านการจัดการ และด้านนวัตกรรม ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว คณะทำงานฯ ได้ปรับกระบวนทัศน์สำคัญสำหรับอนาคตข้าวไทย 4 ด้านคือ การนำการผลิต แยกตลาดส่วนใหญ่และตลาดเฉพาะ ปรับโครงสร้างครบวงจรเหมาะสมกับพื้นที่ และสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรทุกคน
โดยทั้งหมดนี้คณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร 3 ระยะ คือระยะสั้น 6 เดือน ระยะกลาง 12 เดือน และระยะยาว 18 เดือน โดยที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งแผนฯ ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) การกำหนดอุปสงค์อุปทาน ในปี 2559-60 รวม 25 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ต้องดูเรื่องผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จึงเผื่อเหลือและขาดอีก 8 เปอร์เซ็นต์ จึงกำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 27 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ช่วงการผลิต ประกอบด้วยการวางแผนการเพาะปลูกข้าว ปี 2559/60 การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว การจัดการปัจจัยการผลิต การขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลการเกษตร การลดต้นทุนการผลิตข้าว การทำนาแปลงใหญ่ การประกันภัยพืชผล การจัดสินเชื่อและลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรเพื่อการเพาะปลูกข้าว การสร้างชาวนารุ่นใหม่เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว 3) ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ประกอบด้วย การบริหารจัดการรถเกี่ยวและเครื่องจักรกลการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานโรงสี 4) การตลาดในประเทศ ประกอบด้วย มาตรการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดเพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลไกตลาด เป็นต้น และ 5) การตลาดต่างประเทศ เจรจาเจาะตลาดต่างประเทศเพื่อรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และขยายตลาดข้าวที่มีคุณลักษณะเฉพาะ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เสนอขออนุมัติงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการตามแผนข้าวครบวงจร แบ่งเป็น มาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้เงินจากงบกลางปี 2559 จำนวน 3,319 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ จะใช้งบประมาณ 6,764 ล้านบาท โดยจะขอจัดสรรงบประมาณในปี 2560 นอกจากนี้ นบข. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการ นบข. เป็นประธาน ทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวทั้งนาปีและนาปรัง โดยมีองค์ประกอบผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทน และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร 29 คณะ ดูแลระดับพื้นที่ที่ปลูกข้าวทั้งหมด 67 จังหวัด โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะทำงานเพื่อดำเนินการติดตามกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร
ด้านนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้มีการตั้งเป้าขายข้าว 9.5 ล้านตัน ซึ่งยอมรับว่าเป้าส่งออกอาจจะลดลง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง โดยกลุ่มประเทศหลักที่ยังขายข้าวคือกลุ่มประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป โอเชียเนีย และจะเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มแอฟริกาด้วย
-----------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th