ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (local Investment) ตามที่บีโอไอเสนอเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ทั้งด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตรและการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ซึ่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิด “1 ตำบล 1 โรงงานแปรรูปเกษตร 1 แหล่งท่องเที่ยว” ตามนโยบายรัฐบาล แบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 การส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยเน้นกิจการที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ซึ่งทำได้ง่ายและใช้เงินทุนไม่สูง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุทางการเกษตร อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ซึ่งแบ่งวิธีการลงทุนเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี กับกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมของบริษัทแม่ วงเงินไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการแปรรูปเกษตรที่ลงทุน 2) กรณีลงทุนโดยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ลงทุนตั้งโรงงานจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี รวมถึงการผ่อนปรนลดขนาดการลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือ 1 แสนบาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศบางส่วนมาใช้ในโครงการได้
แนวทางที่ 2 การส่งเสริมกิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ตลอดจนผู้ผลิตสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชน มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
แนวทางที่ 3 การส่งเสริมกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสนับสนุนการสร้างจุดขายใหม่ ๆ ด้านการท่องเที่ยว โดยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานจะให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 -5 ปี
ทั้งนี้ กิจการที่สนใจลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นดังกล่าวจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2559 และเริ่มการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ตามนโยบายส่งเสริม Super Cluster ซึ่ง รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ) ได้มอบนโยบายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดำเนินการพัฒนาโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ปัจจุบัน วท. ได้จัดตั้ง Food Innopolis ในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีเอกชนเช่าพื้นที่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารแล้วประมาณ 110,000 ตร.ม. ยังมีพื้นที่ให้เช่าได้อีก 14,000 ตร.ม. ทั้งนี้ กลุ่มกิจการที่เข้าไปตั้งใน Food Innopolis จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานอีก 5 ปี อาทิ กิจการเรื่อง R&D การตั้งศูนย์ทดสอบ ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ ทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
อีกทั้ง ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยกิจกรรมเป้าหมายที่จะรับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามนโยบายส่งเสริม Super Cluster อาทิ กิจการผลิตอากาศยาน หรือชิ้นส่วน ผลิตเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ภายในอากาศยาน การพัฒนา software หรือระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอากาศยานและนิคมอากาศยาน รวมถึงกิจการผลิตเครื่องจักร หรืออุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม กิจการประกอบหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์อัตโนมัติหรือชิ้นส่วน เป็นต้น
-------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th