ทั้งนี้ FEC ถือเป็นองค์กรเอกชนที่ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีสมาชิกจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำและหลากหลาย โดยในวันนี้ คณะจาก FEC ที่นำโดย นายโนะริโอะ ยะมะกุจิ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ได้สอบถามเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชนญี่ปุ่น ดังนี้
ด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและทิศทางในอนาคต รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ไม่น่าวิตกกังวล ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้ง พัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับ 1) อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตรและ Bio Economy 2) อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) อุตสาหกรรม Hi-tech 4) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Animation บันเทิงและดนตรี (entertainment)
ด้านการเกษตร ญี่ปุ่นต้องการทราบถึงแนวนโยบายของรัฐบาลต่อการการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งถือเป็น Primary industry ของไทย รวมถึง ต้องการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องนี้ ซึ่งทางรองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การพัฒนาภาคการเกษตรเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเน้นการยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า ต่อยอดสินค้าเกษตรในท้องถิ่น รวมถึงเน้นการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร และ Bio Economy ที่อาศัยผลผลิตทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน เพื่อสร้างสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่ประเทศไทยต้องการจากญี่ปุ่น คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยได้เปิดช่องทางให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่สนใจสามารถประสานงานได้โดยตรงกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย
ด้านพลังงาน ทางญี่ปุ่นมีความสนใจด้านพลังงาน รวมถึง แนวทางการพัฒนาด้านพลังงานของไทยในอนาคต ซึ่งเดิมไทยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ และปรับมาสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยแนวโน้มในอนาคต ไทยยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน แม้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะถูกลง เนื่องจาก ไทยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ด้านเส้นทางรถไฟ ญี่ปุ่นแสดงความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับเส้นทาง ASEAN Economic Corridor ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การพัฒนาเส้นทางดังกล่าว ไม่เพียงแต่เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงเท่านั้น แต่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง พร้อมย้ำว่า เส้นทางด้านตะวันออก ผ่านระยอง/มาบตาพุด จะเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและจะมีการยกระดับขึ้นไปอีกในอนาคต สำหรับเส้นทางสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองในอนาคตและอยากให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาเส้นทางนี้ให้มากขึ้น เพราะจะช่วยเกี่ยวกับการตัดสินใจด้านการลงทุนทางการค้าในอนาคตได้ โดยปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจ ล่าสุด ศรีลังกา ได้แสดงความประสงค์ที่จะเชื่อมโยงจากโคลัมโบสู่ทวาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางทะเลตลอดเส้นทางด้วย
**************************
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th