นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงของกลุ่ม 77 และแสดงความขอบคุณ ที่ตอบรับมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดและกำหนดทิศทางในอนาคตของความร่วมมือใต้-ใต้
ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2557 ที่กรุงแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย ได้มีข้อเสนอแนะให้จัดการประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาโครงสร้างของความร่วมมือใต้-ใต้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม 77 ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่มให้มีการจัดตั้งหน่วยงานของสหประชาชาติสำหรับความร่วมมือใต้-ใต้โดยเฉพาะ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ไทยยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตามวาระการพัฒนาการที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งสะท้อนในหัวข้อหลักวาระการเป็นประธานกลุ่ม 77 ของไทย “จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ: ความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยไทยจะยึดหัวข้อหลักนี้เป็นหลักการสำคัญในการทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่ม 77 ในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาการที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้
วัตถุประสงค์หลักของการประชุมในวันนี้ คือ การวางแผนเกี่ยวกับโครงสร้างในอนาคตสำหรับความร่วมมือใต้-ใต้ รวมทั้งแผนปฏิบัติการของกลุ่ม 77 เพื่อผลักดันการดำเนินการตามวาระการพัฒนาการที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และแผนปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา ว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา
ผลของการประชุมครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการวางนโยบายในภาพรวมของกลุ่ม 77 และการดำเนินการในทางปฏิบัติในประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นที่สนใจสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
นอกจากการประชุมนี้ ไทยยังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของประธานและผู้ประสานงานของกลุ่ม 77 ซึ่งจะมีขึ้นภายหลังการประชุมครั้งนี้ เพื่อปรับปรุงการประสานงานระหว่างจุดประสานงานต่าง ๆ ของกลุ่ม 77 และการจัดทำแผนปฏิบัติการของแต่ละจุดประสานงาน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงผลลัพธ์จากการประชุมนี้
การประชุมในวันนี้จึงมีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินการในอนาคตของกลุ่ม 77 และขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะร่วมมือกันในแบบของเราเอง เพื่อวาดอนาคตร่วมกัน โดยไม่รอพึ่งพาเฉพาะความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ความร่วมมือใต้-ใต้จะเป็นกำลังหนุนสำคัญให้กับความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ และจะช่วยพาให้พวกเราทุกประเทศบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นของประเทศไทยต่อแนวทางการพัฒนาความร่วมมือใต้-ใต้ 4 ประการ เพื่อให้พวกท่านช่วยกันพัฒนาแนวคิดเหล่านี้ไปสู่แผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
ประการที่ 1 เราไม่ควรรอการพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมือเหนือ-ใต้เท่านั้น หลายประเทศในกลุ่ม 77 มีศักยภาพและประสบการณ์ในการช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาได้ดีมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วในหลายด้าน เนื่องจากมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันได้ดีกว่า ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อตัวเอง ตามความเหมาะสมทางวัฒนธรรมของเรา โดยอาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ด้วย
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจึงอาจพิจารณาหากลไกในการส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพเพียงพอ สามารถยกระดับตนเองขึ้นเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยเน้นการแบ่งปันประสบการณ์และการพัฒนากลไกการให้ความช่วยเหลือ
สำหรับประเทศไทย ในระยะที่ผ่านมา เราได้ปรับสถานะของตัวเองจากประเทศผู้รับมาเป็นประเทศผู้ให้อย่างสมบูรณ์ เราเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การปรับเปลี่ยนสถานะในระยะแรกเป็นไปอย่างราบรื่น คือ การดำเนินความร่วมมือแบบไตรภาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาในการช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ความร่วมมือประเภทนี้เปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เรียนรู้ในการเพิ่มศักยภาพเพื่อยกระดับให้กลายเป็นผู้ให้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแนวทางนี้มาเป็นระยะเวลานาน และมีโครงการความร่วมมือที่สำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น ความร่วมมือแม่โขง-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยเห็นว่า การริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการของผู้รับด้วย ดังนั้น ประเทศไทยจึงเน้นการมีส่วนร่วมของกลไกประชารัฐ (People Public Private Partnership – PPPP) ซึ่งรวมถึงภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้ความร่วมมือต่าง ๆ เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริงและยั่งยืน
ประการที่ 2 ในปัจจุบัน เรามีกลไกความร่วมมือใต้-ใต้ อยู่หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน UN สำหรับความร่วมมือใต้-ใต้ (UN office for South-South Cooperation) และกองทุนเปเรซ เกอร์เรโร ทรัสต์ ฟันด์ Perez-Guerrero Trust Fund (PGTF) เพื่อใช้สนับสนุนโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ เป็นต้น ในการนี้ ประเทศไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญของกองทุน PGTF และได้ประกาศที่จะบริจาคเงินจำนวนห้าแสนสองหมื่น (520,000) ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กองทุน PGTF ในปี 2559 นี้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระการก่อตั้งกลุ่ม 77 ครบรอบ 52 ปี และขอชักชวนให้สมาชิกกลุ่ม 77 อื่น ๆ ให้การสนับสนุนทางการเงินต่อกองทุนดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อความมั่นคงกองทุนในการสานต่อโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ในระยะยาว
ประการที่ 3 แม้ว่าแผนเพื่อการพัฒนาจะดีเพียงใด หากขาดแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาแล้ว การพัฒนาอย่างยั่งยืนคงเกิดขึ้นได้ยาก เราจึงควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามวาระปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา ว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา
ในการนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ในวันที่ 4 – 5 พฤษภาคม 2559 เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตอบสนองต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการลงทุนรายย่อม (Micro-investment) ซึ่งไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการลงทุนรายย่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ประเทศไทยมีโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tumbon One Product) หรือเรียกย่อๆ ว่า OTOP โดยมี OTOP ของหลายหมู่บ้านได้รับประโยชน์จากโครงการกองทุนหมู่บ้าน (Village Fund) ในวันนี้ มีการนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ OTOP มาแสดงให้ทุกท่านชมและทดลองชิม นายกรัฐมนตรีหวังว่า ในวันนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจะร่วมกันระดมสมองและแบ่งปันแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการหารือในการประชุมระดับสูงของกลุ่ม 77 ว่าด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดในเดือนพฤษภาคม 2559
ประการที่ 4 ปีนี้เป็นปีที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาการที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และกลุ่ม 77 จำเป็นต้องผนึกกำลังอย่างมีเอกภาพด้วยการกำหนดท่าทีที่สอดคล้องกันในการผลักดันประเด็นนี้ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น เราควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายประเทศสมาชิกนั้นก็มีแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ อาทิ การตั้งเป้าหมายดัชนีความสุขของภูฏาน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการพัฒนาของไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
จากการยึดมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด ก่อนระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ ให้เป็นประเทศที่มีดัชนีความทุกข์น้อยที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลลัพธ์ของการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ปฏิบัติ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้บอกให้เราผลิตหรือบริโภคแบบจำกัดจำเขี่ย แต่เน้นว่า การจะทำอะไรก็ตามในชีวิต เราต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ ต้องสมเหตุ สมผล เป็นความพอดีและพอประมาณบนพื้นฐานของเหตุและผลของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะ และต้องทำอย่างรู้เท่าทันและมีคุณธรรม ไม่ทำให้ตัวเองได้ดี แต่ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อน หรือสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกภาคส่วนและทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนระดับที่เล็กที่สุด ซึ่งได้แก่ระดับครอบครัวและระดับบุคคล
ในภาคเกษตรกรรม เศรษฐกิจพอเพียงสนับสนุนระบบการจัดการอย่างมีองค์รวม เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรและสนับสนุนความยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร การอนุรักษ์น้ำและความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 1 และ 2 ภายใต้หัวข้อความยากจน และการปราศจากความหิวโหย ตามลำดับ
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความร่วมมือใต้-ใต้ ไทยได้แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในการนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้ดำเนินการผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการความร่วมมือทวิภาคี ที่ดำเนินการผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ ไทก้า (Thailand International Cooperation Agency- TICA)
ในช่วงการเป็นประธานกลุ่ม 77 ของไทย ไทยวางแผนที่จะจัดการประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อแบ่งปันแนวทางการพัฒนาของไทยกับสมาชิกกลุ่ม 77 โดยได้จัดการประชุมครั้งแรกแล้วเมื่อวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2559 การประชุมอีก 2 ครั้งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนและกันยายนในปีนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่กระทรวงการต่างประเทศจะจัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริในวันพรุ่งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ประจักษ์ถึงการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEP ไปใช้ปฏิบัติจริงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้เห็นถึงผลประโยชน์ที่จับต้องได้จริงที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนท้องถิ่น ที่น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ ผมจึงหวังว่าทุกท่านจะสามารถเข้าร่วมในการดูงานครั้งนี้
สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่า ผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ และการเยี่ยมดูงานในวันพรุ่งนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมต่อกลุ่ม 77 เกี่ยวกับแนวทางและวิธีการในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อให้บรรลุวาระการพัฒนาการที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ภายใน 15 ปี ข้างหน้า
และอวยพรให้การประชุมในวันนี้ประสบผลสำเร็จ
**********************************
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th