นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางการก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย ผลักดันให้ ACD มีรากฐานที่แข็งแกร่งและทันสมัย

ข่าวทั่วไป Thursday March 10, 2016 14:44 —สำนักโฆษก

วันนี้ (10 มีนาคม 2559) เวลา 09.30 น. ณ โรงแรม Siam Kempinski พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุม “รัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 14” (Asia Cooperation Dialogue (ACD) Ministerial Meeting)

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามของรัฐบาลไทยและประเทศผู้ก่อตั้ง ACD ขอบคุณหัวหน้าคณะและผู้แทนประเทศสมาชิก ACD ทุกประเทศที่ไว้วางใจไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ และรู้สึกยินดีที่ทุกประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ โดยการส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกประเทศสมาชิกจะร่วมกันหารือเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเป็นเอกภาพเพื่อผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ ACD ยึดหลักการว่าควรเป็นเวทีที่รัฐมนตรีหรือผู้นำของทุกประเทศสมาชิกสามารถหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในบรรยากาศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เห็น ACD เติบโตขึ้นและขยายสมาชิกภาพโดยการต้อนรับเนปาลเข้าเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 34 โดยเชื่อมั่นว่าศักยภาพและประสบการณ์ของเนปาลในภูมิภาคจะมีส่วนช่วยเติมเต็มให้ ACD เติบโตอย่างแข็งแกร่งและเป็นกรอบการหารือที่มีความหลากหลายครอบคลุมทั่วทั้งทวีปเอเชียอย่างแท้จริง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศสมาชิก ACD และกลุ่มประชาคมอื่นควรอยู่บนหลักการ 3 ประการ คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การลดความหวาดระแวง และการมีประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งภายใต้ภายใต้บริบทของการเติบโตและความท้าทายต่าง ๆ ของเอเชีย และด้วยศักยภาพของ ACD ในการเป็นเวทีหารือนโยบายในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเอเชีย การประชุมในวันนี้ จึงมีความสำคัญในการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนาคตของ ACD ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาและความท้าทายหลักที่เอเชียต้องเผชิญ โดยคำนึงถึงปณิธานร่วมกันของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หัวข้อการประชุมครั้งนี้ "ACD – The Way Forward" เป็นความประสงค์ของไทย ในฐานะประธานและผู้ประสานงานเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะเสนอให้ทุกประเทศสมาชิกร่วมกันทบทวนความท้าทาย และปัญหาในช่วงปีที่ผ่านมาที่มีผลต่อการเพิ่มพลวัตให้กับ ACD และกำหนดแนวทางความร่วมมือใน ACD อย่างชัดเจนเพื่อทำให้กรอบการหารือกลับมามีบทบาทที่มีนัยสำคัญในเวทีโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอกลยุทธ์เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย และเพื่อเร่งปรับปรุงกลไกการทำงานภายใน ACD ให้มีรากฐานที่แข็งแกร่งและทันสมัยมากกว่าเดิม

ประการแรก การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทุกประเทศจะร่วมกันกำหนดเป้าหมายและแนวนโยบายในการขับเคลื่อนเอเชียอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศต่างต้องการเห็นเอเชียเป็นประชาคมที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต้องการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองท่ามกลางความท้าทายต่างๆและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แสวงหาความเหมือนในความแตกต่าง โดยการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางแบบประชารัฐ กำหนด Roadmap ในการทำงานในอนาคต สนับสนุนความร่วมมือระหว่างแบบไตรภาคีซึ่งจะทำให้ความร่วมมือเดินหน้าและแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ประการที่สอง การพัฒนาความเชื่อมโยงในเอเชียควบคู่ไปกับการจัดทำวิสัยทัศน์ของกรอบ ไทยในฐานะที่ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของอาเซียน เล็งเห็นถึงศักยภาพในการผลักดันความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และการปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าในภูมิภาค ACD ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมโยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ACD มีประชากรรวมกันกว่า 4.3 พันล้านคน มี GDP รวมกันกว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าทั้งหมดของภูมิภาคคิดเป็น 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าเฉพาะภายในภูมิภาค ACD มีประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่า เมื่อรวมตัวกันจะกลายเป็นศูนย์รวมแรงงาน วัตถุดิบ และฐานการผลิตที่สำคัญมากสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียและโลก ดังนั้นทุกประเทศควรร่วมกันผลักดันให้เกิดความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจของ ACD โดยเร็ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั้งทวีป

ประการที่สาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ ACD ควรมุ่งสู่การพัฒนาภูมิภาคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยการกำหนดลำดับความสำคัญ โดยร่วมกันส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยการนำไปปฏิบัติในทุกระดับและภาคส่วน และตั้งอยู่บนหลักสำคัญ คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน เช่นการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในด้านการดูแลและให้บริการทางด้านสุขภาพ ตั้งแต่การรักษาสุขภาพด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน การแพทย์แผนไทย การแพทย์แบบองค์รวม และการแพทย์แผนปัจจุบันที่ทันสมัย ซึ่งไทยสามารถดูแลสุขภาพประชากรของเราได้อย่างทั่วถึงในราคาที่ประชาชนสามารถจ่ายได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในประการสุดท้าย ACD ควรเร่งรัดปรับปรุงกลไกการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือที่มีมากถึง 20 สาขา ให้มีความชัดเจนขึ้นให้เกิดความร่วมมือใน ACD ที่แข็งขันและสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมให้กับภูมิภาค โดยเสนอให้ ACD ให้ความสำคัญไปที่ 6 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (2) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ (5) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และสาขาสุดท้าย (6) วิถีทางเลือกสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า บทบาทภาครัฐควบคู่ไปกับภาคเอกชนคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาในมิติต่างๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSMEs ซึ่งประเทศไทย SME มีกว่า ร้อยละ 99 ในระบบห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่า มีสัดส่วนการจ้างงานโดยรวมสูงเกือบถึงร้อยละ 78 ของการจ้างงานรวม และยังเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่สำคัญ รัฐบาลจึงผลักดันให้การส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติ โดยนากยรัฐมนตรีเล็งเห็นว่าควรมีกลไกที่ส่งเสริมบทบาทและส่วนร่วมของภาคธุรกิจใน ACD อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการขยายความร่วมมือในภาคการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก ACD และส่งเสริมการจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ในเอเชีย อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ ACD อย่างทั่วถึง โดยนายกรัฐมนตรียังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวขอบคุณทุกประเทศสมาชิกที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนกับไทยในด้านการวิจัยและพัฒนา

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวมั่นใจว่า การประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 14 ในวันนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับความร่วมมือในเอเชียและวางแนวทางที่เป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์ไปสู่การประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับ และหารือกับผู้นำประเทศสมาชิก ACD เพื่อสานต่อมติของที่ประชุมครั้งนี้ เพื่อการสร้างเสริมเอเชียของเราให้แข็งแกร่ง มีความมั่งคั่ง มั่นคง อย่างยั่งยืนอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนของเราทุกคน

*******************************

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ / สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ