ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การพบหารือในวันนี้เป็นการแสดงว่า สองประเทศต้องการพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างกันและอิหร่านพร้อมที่จะร่วมมือกับไทย อย่างใกล้ชิด ในทุกดาน ภายหลังที่อิหร่านบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาตามข้อตกลงนิวเคลียร์
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านสู่ประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่เคยเยือนประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อ 23 ปีก่อน พร้อมชื่นชม นายโมฮัมหมัด จาหวัด ซาริฟ ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับกลุ่มประเทศมหาอำนาจจนนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการใช้การทูตแก้ไขปัญหาในประเด็นความท้าทายระดับโลก และทราบว่าจะมีการบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์การเจรจาปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ในช่วงบ่ายนี้ที่กระทรวงการต่างประเทศ อันเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวจากผู้มีประสบการณ์ตรง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ได้กล่าวแสดงความชื่นชมและเห็นด้วยกับประเด็นต่างๆที่นายกรัฐมนตรีหยิบยกในที่ประชุม ACD เมื่อวาน
ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและอิหร่านมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยากับจักรวรรดิเปอร์เซีย เป็นเวลากว่าสี่ศตวรรษ โดยอิหร่านย้ำถึงความสำคัญที่ให้แก่ประเทศไทยและพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างเต็มศักยภาพ และมีความยินดีที่ไทย-อิหร่านมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเยือนอิหร่านของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดือนกุมภาพันธ์ 2559 การประชุม JC ไทย – อิหร่าน ครั้งที่ 9 (23-24 มกราคม 2559) และการเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านในครั้งนี้ อันนำไปสู่พัฒนาการของความร่วมมือในสาขาที่สำคัญ ได้แก่ การค้า พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การเกษตรและประมง
ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะกระชับความสัมพันธ์ในสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและความสนใจร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรเร่งดำเนินการในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันทีให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ และวางแผนความร่วมมืออนาคตในระยะกลางและระยะยาว
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ไทยและอิหร่าน เพิ่งบรรลุข้อตกลงเพื่อให้แผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองประเทศจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การค้า การลงทุน พลังงาน และการขนส่ง โดยที่นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมให้อิหร่านซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง และให้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าให้แก่อิหร่านในอาเซียน
ด้านการเกษตร นายกรัฐมนตรียินดีที่ทราบว่าอิหร่านต้องการซื้อข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ไทยมีข้าวหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง หรือ ข้าวที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งยังมีสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพง
สำหรับภาคการเงินการธนาคาร สองฝ่ายเห็นว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน จะทำให้ภาคการเงินการธนาคารของทั้งสองประเทศกลับมาติดต่อสัมพันธ์และมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น จึงควรส่งเสริมให้ธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ของทั้งสองประเทศเร่งติดต่อและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินของภาคเอกชน
ด้านพลังงาน ไทยและอิหร่านเห็นพ้องที่จะมีความร่วมมือในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่อิหร่านมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และปิโตรเคมี โดยไทยพร้อมให้มีการรื้อฟื้นการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมและก๊าซในอิหร่าน รวมถึงการฟื้นฟูความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบบันทึกความเข้าใจด้านปิโตรเลียมระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงปิโตรเลียมอิหร่าน
ด้านการท่องเที่ยว อิหร่านต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากไทยและส่งเสริมให้ไทยไปลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอิหร่าน โดยเห็นพ้องที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พิจารณาเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกัน รวมถึง ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบแพ็คเกจ
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยต้องการศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจากอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถผลิตวิศวกรได้เป็นอันดับห้าของโลก
ด้านอุตสาหกรรมยาและสมุนไพร ที่อิหร่านมีศักยภาพ สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะไปพิจารณารูปแบบความร่วมมือและการพัฒนาในสาขานี้ร่วมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตยาในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้โดยตรง
อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ ทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพในเรื่องนี้ จึงเห็นพ้องให้มีการศึกษาลู่ทางความร่วมมือและการลงทุนระหว่างกัน
สำหรับด้านความมั่นคง ไทยและอิหร่านต่างเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันโดยครอบคลุม ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การป้องกันการก่อการร้ายและต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และยาเสพติด ตลอดจน อาชญากรรมข้ามชาติ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการความร่วมมือต่างๆ กับอิหร่านในทุกด้าน เพื่อปูพื้นฐานความสัมพันธ์สู่อนาคต โดยที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ประเทศไทย ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจทางการเมือง และจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ตามโร้ดแม็ปที่ได้วางไว้ในปี 2560 ซึ่งรัฐมนตรีฯอิหร่านได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของนายกรัฐมนตรีและการสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th