กพช.เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระยะที่1 เตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามุ่งเน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า

ข่าวทั่วไป Friday March 11, 2016 14:44 —สำนักโฆษก

วันนี้ (11มี.ค.59) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบโดยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงพลังงานและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องในการดูแลประชาชนเรื่องของพลังงานตามนโยบายรัฐบาล และทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับพลังงานงานลดลงเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกันนี้ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสร้างการรับรู้และชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจในเรื่องที่มีความซับซ้อนหรือประเด็นที่จะมีการดำเนินการ โดยใช้ภาษาสื่อสารให้สอดคล้องเหมาะสมกับประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคมและประชาชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลในการวางพื้นฐานอนาคตของประเทศให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนและเดินหน้าต่อไปได้

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงผลการประชุม สรุปดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์พลังงานปี 2558 ซึ่งตลอดปี 2558 สถานการณ์ราคาน้ำมันยังลดลงอย่างต่อเนื่องโดยราคาเฉลี่ยประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้การใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 4.3% ในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลซึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทำให้กลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้น 13.2% ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันเครื่องบินก็เพิ่มขึ้น 9.4% ซึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ส่วนการใช้ไฟฟ้าปี 2558 เพิ่มขึ้น 3.7% จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

รวมทั้งที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับการประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) และแผนการรณรงค์การลดพีคไฟฟ้า โดยคาดว่าในปี 2559 การใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) จะอยู่ที่ 29,018 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการประมาณการโดยค่า GDP ชุดใหม่ ร้อยละ 2.8 – 3.8 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดการต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบ กฟผ. จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม – กลางเดือนพฤษภาคม 2559 โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมการรณรงค์การลดพีคไฟฟ้าโดยขอความร่วมมือรวมพลังคนไทยลดพีคไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้ 1) ปิด คือปิดไฟที่ไม่จำเป็น 2) ปรับ คือปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาหรือปรับ Fan Mode 3) ปลด คือปลดปลั๊กอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้ และ4)เปลี่ยน คือเปลี่ยนอุปกรณ์มาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ประหยัดพลังงาน โดยขอความร่วมมือประชาชนดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 1 ชั่วโมงของทุกวัน ตั้งแต่เวลา 14.00 – 15.00 น. ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 30 พฤษภาคม 2559

อีกทั้ง ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าสถานการณ์รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเรื่องแนวทางการดำเนินโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาแบบเสรี เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดพลังงานและลดภาระค่าไฟฟ้าลง โดยมีการนำเสนอโครงการนำร่องด้วยการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนที่อยู่อาศัย หรืออาคารธุรกิจ โรงงาน ที่มีการใช้ไฟฟ้าสม่ำเสมอในช่วงกลางวัน มีปริมาณการติดตั้ง 100 MWp พื้นที่ทั่วประเทศ พื้นที่การไฟฟ้านครหลวง 50 MWp และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 50 MWp โดยแบ่งเป็นบ้าน 10 MWp และอาคารธุรกิจ 40 MWp โดยขนาดติดตั้งไม่เกิน 10 KW สำหรับบ้าน และ 10 – 1,000 KW สำหรับอาคารธุรกิจ โรงงาน ทั้งนี้ ให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในบ้านหรืออาคารก่อนเป็นสำคัญ และที่เหลือไหลย้อนเข้าสายจำหน่ายให้น้อยที่สุดโดยวิธีการ คือ 1) กำหนดขนาดโซล่าร์รูฟ ไม่เกินความต้องการใช้เฉลี่ยต่อเดือน (ดูใบเสร็จค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 12 เดือน และคำนวณกลับเป็นกำลังไฟฟ้าติดตั้งของโซล่าร์รูฟ) 2) การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะพิจารณาให้การติดตั้งโซล่าร์รูฟ ไม่เกินร้อยละของกำลังติดตั้งหม้อแปลงที่มีการเชื่อมต่ออยู่ ตามข้อกำหนดของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และ3) ต้องเปลี่ยนมิเตอร์จากแบบจานหมุนเป็น Digital meter ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2559 จะสามารถออกประกาศรับสมัครเข้าร่วมโครงการได้ และภายในเดือนธันวาคม 2559 – มกราคม 2560 ผู้ผ่านการคัดเลือกดำเนินการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟโครงการนำร่อง พร้อมจะมีการติดตามประเมินผลโครงการ และเสนอแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมในการส่งเสริมโซล่าร์รูฟเสรีในระยะต่อไป

สำหรับเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา Solar PV Rooftop ที่ค้างตั้งแต่ปี 2556 รอบที่ 1 และปี 2558 ในรอบที่ 2 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยาย SCOD ออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 โดยมีผู้ยื่นแจ้งยกเว้นอยู่ระหว่างการติดตั้งประมาณ 1,650 ราย และมีสัญญายังไม่ยื่นแจ้งยกเว้นฯ ประมาณ 8,320 ราย ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายตรงนี้ก็จะได้รับการขยาย SCOD ออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2559 ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าหาก Solar PV Rooftop รายใด ของปี 2556 สามารถที่จะ SCOD ได้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 จะได้ Fit เท่าอัตราเดิมที่เคยได้รับ แต่ถ้าเกิดวันที่ 30 เมษายน 2559 แต่ไม่เกิน 30 มิถุนายน 2559 บ้านอยู่อาศัยจะถูกลดลงมาเหลือ 6.85 บาท/หน่วย เท่ากับอัตรา Fit ในปี 2558 ส่วนถ้า SCOD เกิน 30 มิถุนายน 2559 ก็จะยกเลิกสัญญาไป

ส่วนในกรณี Solar PV Rooftop ของรอบปี 2558 หากสามารถ SCOD ได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 จะได้รับ Fit อัตราเดิม บ้านอยู่อาศัย 6.85 บาท/หน่วย ขณะที่กรณี Solar ในระบบ Adder เดิม (ค้างท่อ) นั้น จะมีการพิจารณาให้เฉพาะกรณีที่ได้มีการก่อสร้างและอยู่ระหว่างการร้องเรียนและอุทธรณ์เป็นราย ๆ ไป โดยหากได้รับการพิจารณาอุทธรณ์แล้วสามารถที่จะดำเนินการจ่ายไฟเข้ามาได้ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ก็จะมีการพิจารณาให้แต่ลดอัตราจาก Fit เดิมลง 5% เหลือ 5.337 บาท/หน่วย และกรณีที่เกิน 30 มิถุนายน 2559 ก็จะดำเนินการยกเลิกสัญญาไปทุกกรณี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินการ ดังนี้

1) จัดทำแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยให้สอดคล้องกับแนวทางที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 : เตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านสาธารณูปโภค การสนับสนุนด้านภาษี และการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

ระยะที่ 2 : ขยายผลในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การกำหนดรูปแบบและมาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า การกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน การทบทวนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า

ระยะที่ 3 : ขยายผลไปสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า พัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging) และพัฒนาระบบบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศร่วมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Vehicle to Grid: V2G)

2) เตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะที่ 1 ประกอบด้วย

  • จัดทำโครงการนำร่องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำกรอบแนวทางอัตราค่าบริการชั่วคราวสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรกโดยกำหนดให้มีต้นทุนการสิ้นเปลืองพลังงานต่อกิโลเมตรต่ำกว่ายานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง NGV
  • ดำเนินการจัดทำมาตรการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า
  • ศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะที่ 1 และเห็นชอบกรอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการชั่วคราวสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

อีกทั้งที่ ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2564 ในวงเงินปีละ 12,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 60,000 ล้านบาทโดยกำหนดสัดส่วนจัดสรรเงินกองทุนฯ ให้กับ 3 แผนหลัก ได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 67% รองลงมาคือ แผนพลังงานทดแทน 30% และแผนบริหารทางกลยุทธ์ 3% ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตลอดจนนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล อาทิ นวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ฯลฯให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด

พร้อมทั้ง ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้เข้าสู่กระบวนการในการออกเป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ กบง. จึงให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ดังนี้

1) รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชน ในกรณีเกิดวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ

2) สนับสนุนให้เชื้อเพลิงชีวภาพมีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้

3) บรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส

4) สนับสนุนการลงทุนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สำหรับสนับสนุนการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาใช้ในกรณีวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน

5) สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจการของรัฐ สำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงาน

--------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ข้อมูล:สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ