ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ไทย-อินเดีย มีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานเกือบ 70 ปี โดยสองฝ่ายต่างมีนโยบายต่างประเทศที่สอดรับกัน ไทยดำเนินนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West Policy) ส่วนอินเดียมีนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) และรัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับอาเซียน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
วันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตอินเดีย ในการประจำการที่ประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง พร้อมย้ำนโยบายของไทยที่ต้องการจะพัฒนาความสัมพันธ์กับอินเดียในทุกมิติและทุกระดับให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเห็นว่า การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรองประธานาธิบดีอินเดียมีส่วนช่วยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียอย่างยิ่ง และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย และส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน โดยล่าสุด ไทย-อินเดีย ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านความมั่นคงไทย-อินเดีย ด้านกฎหมายและกิจการยุติธรรม และด้านความร่วมมือทางทะเล ซึ่งการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ประสบความสำเร็จด้วยดี
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลอินเดียสำหรับการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อวันที่ 7 – 11 ก.พ. 2559 และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จ เมื่อวันที่ 21 – 22 ก.พ. 2559 พร้อมขอให้ฝ่ายอินเดียเตรียมถวายการต้อนรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วงปลายปีนี้ และยินดีที่ทราบว่า อินเดียจะทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “World Sanskrit Award” ในฐานะที่ทรงมีบทบาทส่งเสริมภาษาสันสกฤตในต่างประเทศ ในช่วงที่เสด็จฯ เยือนอินเดียดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ทางเอกอัครราชทูตฯ กล่าวชื่นชมพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยที่มีส่วนสำคัญต่อการสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ พร้อมแสดงความชื่นชมแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง
ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีชื่นชมนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของนายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยเฉพาะโครงการ Make in India, Delhi-Mumbai Economic Corridor และ Smart Cities ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับตลาดอินเดีย ในฐานะที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้
สำหรับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 90% ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้เร่งพิจารณาอีก 10% ที่เหลือ และเห็นควรให้ผลักดันและเร่งรัดให้การเจรจาบรรลุผลโดยเร็ว เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนนักลงทุนจากอินเดียมาลงทุนในไทย ตามนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนซึ่งรัฐบาลไทยมีมาตรการจูงใจด้านการลงทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ต่างชาติด้วย
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรีชื่มชมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ การวิจัยและพัฒนา ของอินเดียและต้องการที่จะขยายความร่วมมือสาขาดังกล่าวให้มากขึ้น
ด้านการศึกษา ไทยสนับสนุนการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลัน ในอินเดีย โดย ล่าสุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะองค์ที่ปรึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากไทยเป็นคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยนาลันทา
ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนให้อินเดียเป็นทางเลือกทางการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิม เนื่องจากมีสถาบันการศึกษามุสลิมชั้นนำที่เปิดสอนวิชาสามัญ และเห็นว่า นักศึกษาไทยที่ได้รับการศึกษาจากอินเดียจะสามารถกลับมาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ความร่วมมือเชิงวิชาการ ไทยพร้อมสนับสนุนหากอินเดียจะสามารถขยายการค้าการลงทุนในสาขานวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรของไทยและเทคโนโลยี ทั้งในลักษณะ ไทยบวกหนึ่ง และอาเซียนบวกหนึ่ง
ด้านการพัฒนาความเชื่อมโยง มีการหารือเกี่ยวกับถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมา-อินเดีย ที่ไทยรับผิดชอบการสร้างถนนเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-ตะนาวศรี-กอกะเร็ก สร้างเสร็จแล้วในปัจจุบัน สำหรับโครงการท่าเรือ/เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อินเดียได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้กับไทย ญี่ปุ่น เมียนมาด้วย
ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่จำนวนนักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยถึง 1 ล้านคน ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปอินเดีย 1 แสนคน โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียนิยมจัดงานแต่งงาน รวมไปถึงถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย พร้อมเชิญชวนชาวอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย รวมไปถึงบริการเชิงสุขภาพและความงาม
ด้านการทหารและความมั่นคง ไทย-อินเดียมีความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงที่ใกล้ชิด มีการประชุมคณะทำงานร่วมด้านความมั่นคงระหว่างไทยและอินเดีย เมื่อ 18 – 19 ม.ค. 2559 พร้อมย้ำถึงความสนใจในการร่วมมือด้านการฝึกเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับอินเดียที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนอินเดีย เพื่อเร่งผลักดันความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและทางการค้าการลงทุนในช่วงเดือน มี.ค-เม.ย. 2559 ด้วย โดยในตอนท้าย เอกอัครราชทูตฯ ยังได้ย้ำคำเชิญเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ จากรัฐบาลอินเดีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับที่พิจารณาวัน-เวลาที่สะดวกต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th