รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดโครงการ "คณะเยาวชนยุวโฆษก" เพื่อต้องการให้เด็กและเยาวชนได้เผยแพร่นโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล รวมทั้งพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสื่อสารแก่เยาวชนผ่านกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การเข้าเยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญของประเทศ การฝึกอบรม การลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นต้น
การเข้าเยี่ยมคารวะของคณะเยาวชนยุวโฆษก รุ่นที่ 9 นี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการศึกษา ซึ่งได้เล่าให้ยุวโฆษกได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ เพราะ "ยุวโฆษก" เปรียบเสมือนเป็น "ทีมโฆษกของรัฐบาล" ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ดังนั้นยุวโฆษกจึงต้องทราบนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อที่จะนำไปเผยแพร่ได้อย่างถูกต้อง แม้เป็นภารกิจที่ยาก แต่ก็เชื่อว่าทุกคนมีวุฒิภาวะที่สามารถทำได้
ในขณะเดียวกัน มีประเด็นที่หลากหลายซึ่งยุวโฆษกได้ตั้งคำถาม และหลายคำตอบก็ตรงกับสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ในเวลานี้ และหลายคำถามก็คล้ายกับสภานักเรียนที่มาเข้าพบเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา เช่น ปัญหาการบริหารงานของโรงเรียน ปัญหาครูมีภาระงานมากทำให้ไม่มีเวลาสอนหรือดูแลนักเรียน การเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อย เป็นต้น
สำหรับประเด็นที่ยุวโฆษกได้ให้ความสนใจอย่างมาก คือ ปัญหาเรื่องครูแนะแนว ซึ่งการถามของเด็กได้จุดประกายให้กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการแก้ปัญหา เนื่องจากการแนะแนวเป็นปัญหามาตั้งแต่สมัยที่เด็กเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา และในปัจจุบันยังขาดครูแนะแนวในทุกระดับชั้น อีกทั้งครูแนะแนวยังไม่มีความรู้ด้านการแนะแนวอาชีพเท่าที่ควร ทำให้เด็กไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะแนวอาชีพสำหรับภาคเอกชน จึงต้องเร่งดำเนินการให้ครูแนะแนวในทุกระดับการศึกษาให้มีข้อมูลในส่วนนี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะนำไปหารือและประสานให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแนะแนวมากขึ้นด้วย
ในส่วนของข้อคิดเห็นของยุวโฆษกเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านการศึกษานั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การกระจายอำนาจการศึกษาต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความแข็งแกร่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กล่าวคือ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง ก็จะทำให้การศึกษาดีไปด้วย แต่ในความเป็นจริงยังมีปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจการศึกษาอยู่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากกระจายอำนาจออกไปแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เข้มแข็งพอ ก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะดำเนินการ ซึ่งยุวโฆษกก็เห็นพ้องกับการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนนี้
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ตอบคำถามในประเด็น "ครูสร้างความกดดันให้กับเด็ก" เพราะจะทำให้เด็กไม่กล้าตอบคำถาม และไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมไทยที่เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ดังนั้น ครูจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กมีโอกาสแสดงความคิดเห็นตามสมควร และอยู่ในความพอดี
อีกประเด็นที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการสอบ Exit Exam ในระดับปริญญาตรี กล่าวคือ เป็นการทดสอบภาษาอังกฤษก่อนจบการศึกษา แต่การทดสอบนี้จะไม่ใช้กับเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการทดสอบจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า อีกทั้งแต่ละสาขาจะใช้เกณฑ์คะแนนในการสอบผ่านไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับของภาษาอังกฤษที่ควรจะเป็นของแต่ละสาขา แต่ต้องมีมาตรฐานในการทดสอบเดียวกัน ซึ่งกำลังพัฒนาให้มีบทเรียนภาษาอังกฤษที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งปรับวิธีการสอนในห้องเรียน โดยไม่เน้นสอนไวยากรณ์ แต่เน้นให้เด็กนำภาษาอังกฤษไปใช้ในการสื่อสารได้ รวมทั้งต้องสร้างแรงจูงใจ (Motivation) ในการเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อทำให้ผู้เรียนเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ ต้องไม่อายหรือกลัวที่จะพูดภาษาอังกฤษอีกต่อไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th