นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวในการแถลงข่าวว่า จากการไปร่วมประชุมระดับวิชาการ เมียนมา-ไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา มีผลการเจรจาที่สำคัญเกี่ยวกับการตรวจสัญชาติแรงงานเมียนมา โดยเมียนมาเห็นชอบจะออกเอกสาร C.I. (Certificate of Identity-หนังสือสำคัญประจำตัว) เป็นเอกสารชั่วคราวมีอายุ 2 ปี นับแต่วันที่ออกบัตร เพื่อรับรองแรงงานเมียนมาในประเทศไทยที่มีบัตรสีชมพูแล้วทุกคน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการพิสูจน์ชาติเร็วขึ้น ที่ผ่านมามีแรงงานเมียนมาขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 6 แสนคน และได้ยื่นเรื่องเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติแล้ว ประมาณ 2 แสนกว่าคน แต่เนื่องจากกระบวนการมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน ทั้งนี้ ทางการเมียนมาจะเรียกค่าธรรมเนียมเอกสาร C.I.ในอัตราฉบับละ 400 บาท โดยมีความเห็นตามที่ฝ่ายไทยเสนอให้จ่ายค่าธรรมเนียมผ่าน Non Bank/Counter Service หรือธนาคาร ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันการเรียกผลประโยชน์หรือค่าหัวคิวได้ และทางเมียนมาได้ขอให้ไทยผ่อนผันการดำเนินการกับแรงงานเมียนมาในขณะนี้
ด้านการดูแลแรงงานในกิจการประมงทะเล จะได้มีความร่วมมือและประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบฐานข้อมูลอิเลคทรอนิค รวมถึงการได้มีการทบทวนแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย กลุ่มมีหนังสือเดินทางชั่วคราว ครบอายุ 6 ปี และกลุ่มที่ทำงานครบ 4 ปี ซึ่งหากครบกำหนดเวลาและเอกสารหมดอายุแล้ว ซึ่งทางเมียนมาทำหนังสือแจ้งความประสงค์มาให้พิจารณา ซึ่งน่าจะได้จัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบเดียวกัน โดยใช้แนวทางเดียวกับการใช้เอกสาร C.I. สำหรับการสนับสนุนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) จะดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ให้มากขึ้น เพื่อเป็นขจัดการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยจะนำร่องใช้ระบบอิเลคทรอนิค และจัดตั้งคณะทำงานมาจัดสร้างโปรแกรม/เว็บ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ป้องกันปัญหาแรงงานถูกหักหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายมาทำงานในประเทศไทยจากค่าจ้างของตัวแรงงาน ซึ่งผลการเจรจาดังกล่าวข้างต้นจะได้นำเสนอทางคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (อ.กนร.) เพื่อเสนอขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
ด้าน นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้กล่าวเพิ่มเติม ว่าในส่วนของความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานได้รับงบประมาณ 11 ล้านบาท จากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา จำนวน 410 คน ในส่วนของประเทศเมียนมา ได้เจรจาเสนอกับปลัดกระทรวงแรงงาน การจ้างงานและการประกันสังคม (U Myo Aung) ว่าไทยจะได้สนับสนุนการฝึกอบรม ใน 3 เมือง ประกอบด้วย 1) เมืองทวาย ทางศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกาญจนบุรีจะเข้าไปดูแล 2) เมืองเมียวดี เป็นศูนย์ฯจังหวัดตาก และ3) เมืองท่าขี้เหล็ก ศูนย์ฯจังหวัดเชียงราย เป็นการจัดฝึกอบรมนอกประเทศให้กับแรงงานพม่า 11 หลักสูตร จำนวน 210 คน ทั้งนี้ทางเมียนมาจะต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่ฝึกอบรมและผู้ที่จะเข้ารับการอบรม ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์
---------------------------------------
“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER"
"เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา"
ขอขอบคุณที่เผยแพร่ข่าวนี้/11 มกราคม 2559/ กัณติภณ คูสมิทธิ์ - ภาพ/พุทธชาติ อินทร์สวา – ข่าว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th