วันนี้ (18 มี.ค. 2559) พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ณ เมืองซานย่า และการประชุม Boao Forum for Asia ณ เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2559
กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน โดยเป็นกรอบความร่วมมือที่จีนพัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งได้เสนอให้มีกรอบความร่วมมือที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับการประชุมฯครั้งนี้ ฝ่ายจีนได้เชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน โดยมีหัวข้อหลักของการประชุมฯ คือ “Shared River, Shared Future” กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างมีความร่วมมือที่สอดคล้องกับ 3 เสาหลักของอาเซียน ได้แก่ 1.การเมืองและความมั่นคง 2.เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3.สังคม-วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ครอบคลุมความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1.การส่งเสริมความเชื่อมโยง 2.ความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม 3.ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5.การเกษตรและการลดความยากจน
วัตถุประสงค์ของการประชุม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับวาระของอาเซียนในการลดช่องว่างการพัฒนาในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงผลักดันให้บรรลุเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป็นการส่งเสริมบทบาทในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G77 รวมทั้งเป็นโอกาสของไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่สมาชิกในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงอีกด้วย
ผลลัพธ์ของการประชุม ได้แก่ 1.ร่างปฏิญญาซานย่า ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดทิศทาง หลักการ และแนวทางความร่วมมือของกรอบแม่โขง-ล้านช้าง เป็นเอกสารที่มุ่งแสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำต่อกรอบดังกล่าว 2.ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต ซึ่งระบุความสำคัญและประโยชน์ของความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิต หลักเกณฑ์ในการดำเนินความร่วมมือด้านการผลิตระหว่างกัน สาขาหลักในการดำเนินความร่วมมือ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน 3.รายการโครงการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทันที ที่ได้รวบรวมข้อเสนอโครงการของประเทศสมาชิกทุกประเทศที่พร้อมดำเนินการ และนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
สำหรับการประชุม Boao Forum for Asia เป็นเวทีสำหรับผู้นำระดับสูงทั้งจากภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ได้มาหารือและแสดงวิสัยทัศน์ โดยมีเวที World Economic Forum เป็นต้นแบบ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ สำหรับหัวข้อของการประชุม Boao Forum for Asia ในปีนี้ คือ Asia’s New Future : New Dynamics, New Vision โดยมีผู้นำภาครัฐบาล เอกชน มาหารือและแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันในเรื่องความสามารถในการผลิต อินเตอร์เนต นวัตกรรม และเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงร่วมกับผู้นำประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงและประเทศนอกภูมิภาคอื่นๆ ในเวทีดังกล่าวด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th