พม. จับมือ JICA จัดการประชุมระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ ๖ เรื่อง การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในการสร้างชีวิตใหม่ : การแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวทั่วไป Saturday January 16, 2016 15:04 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๑๖ ก.พ. ๕๙) เวลา ๑๔.๓๐ น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จัดการประชุมระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ ๖ เรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในการสร้างชีวิตใหม่ : การแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่๑๖-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยมีพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลที่ทำงานช่วยเหลือส่งกลับและคืนสู่สังคมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จาก ๕ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานในประเทศและองค์การระหว่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๐ คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องคอนเวนชั่น ซี โรงแรมแอมบาสเดอร์ ถนนสุขุมวิท ๑๑ กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และ ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย "ไม่ยอมรับต่อปัญหาการค้ามนุษย์” หรือ"Zero Tolerance” เพื่อปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ในขณะที่ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายรูปแบบ ซึ่งปัญหาที่เด่นชัดในภูมิภาคนี้ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ และการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศที่มีชายแดนติดกัน ทั้งนี้ ความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจึงมีความจำเป็นและเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในอนุภูมิภาคนี้

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จัดการประชุมระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ ๖ เรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในการสร้างชีวิตใหม่ : การแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานรัฐบาล ระบบการช่วยเหลือส่งกลับ และคืนสู่สังคมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานของประเทศในภูมิภาคดังกล่าว สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การนำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของผู้แทนจาก ๕ ประเทศ การแบ่งกลุ่มย่อยและมีการศึกษาดูงานกระบวนการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า การประชุมระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นการประชุมประจำปี ภายใต้ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ JICA ในโครงการพัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Project on Capacity Development on Assisting Victims of Trafficking in the Greater Mekong Sub-Regional Countries หรือ (CM4TIP)) โดยเริ่มดำเนินโครงการฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในด้านการส่งกลับและการคืนสู่สังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หลังจากหลุดพ้นจากกระบวนการค้ามนุษย์ มีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดเชียงราย อุบลราชธานี และพะเยา รวมทั้งแขวงบ่อแก้วและจำปาสักในประเทศลาว และท่าขี้เหล็ก ในประเทศเมียนมา ทั้งนี้ ผลการประชุมครั้งนี้ จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดและพัฒนาแผนและกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนา CM4TIP เพื่อให้การดำเนินงานสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ช่วยสนับสนุนกระบวนการคุ้มครองและช่วยเหลือของหน่วยงานในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ ตนได้เป็นผู้นำเสนอ (Keynote Presentation) สถานการณ์การค้ามนุษย์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งกล่าวถึงรูปแบบของการค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ พบว่ากระบวนการค้ามนุษย์เกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดนผ่านช่องทาง ที่มีการเคลื่อนย้ายของประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมทั้ง นำเสนอกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองของ รัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทุกประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต้องร่วมมือกันแก้ไขและป้องกันการค้ามนุษย์ร่วมกัน โดยเฉพาะการการสร้างความร่วมมือด้านระบบการช่วยเหลือส่งกลับผู้เสียหายให้คืนสู่ประเทศต้นทางอย่างปลอดภัยรวมทั้ง มีระบบการติดตามช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างต่อเนื่องทำให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ