กระทรวงสาธารณสุข แนะ 3 แนวทาง สร้างบุญ สร้างสุขภาพ ในวันมาฆบูชา ถวายอาหารสุขภาพแก่พระสงฆ์ ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฝึกสติ ให้รู้ทันจิตใจตัวเอง ยับยั้งชั่งใจได้ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกเพศทุกวัย และงดดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้อิ่มบุญ อิ่มใจ วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย โฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว “วันมาฆบูชา สร้างบุญ สร้างสุขภาพ” ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 เชิญชวนประชาชนปฏิบัติตามแนวทางการดูแลสุขภาพในวันมาฆบูชา ให้มีความสุขทั้งกายและใจด้วย 3 แนวทาง คือ ถวายอาหารสุขภาพแก่พระสงฆ์ ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เน้นข้าวที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เพิ่มผักและผลไม้ ฝึกสติ ให้รู้ตัว ไม่เผลอ ไม่ประมาท รู้ทันจิตใจตัวเอง ยับยั้งชั่งใจได้ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกเพศทุกวัย และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ เพื่อสร้างกุศล
แนวทางที่ 1 การเลือกอาหารถวายพระสงฆ์ในวันมาฆบูชา ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไทย เลือกอาหารสุขภาพ หรือ “ภัตตาหารชูสุขภาพ” ถวายพระสงฆ์ เนื่องจากประชาชนมักนำอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มเกินไป มาถวาย ประกอบกับสถานภาพของพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันได้ ส่งผลให้พระสงฆ์อาพาธด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนนำอาหารสุขภาพมาถวาย มีสารอาหารอย่างน้อย 4 หมู่ ได้แก่ข้าว ควรเลือกที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือเป็นขนมปังทำจากแป้งไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ควรเลือกที่ไขมันต่ำ เช่น เนื้อไม่ติดมัน ปลา ทั้งนี้ อาหารต้องปรุงรสไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือทำเป็นน้ำพริก ใช้น้ำมันหรือกะทิน้อย ส่วนผลไม้เลือกที่รสไม่หวานจัด เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล มะละกอ เป็นต้น รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย เช่น นมจืด น้ำสมุนไพรหวานน้อย หรือน้ำดื่มสะอาด เท่านี้ถือว่าเป็นบุญที่สำเร็จด้วยการบริจาคทาน ที่อิ่มบุญ อิ่มใจ
แนวทางที่ 2 การฝึกสติ ขณะนี้ปัญหาและสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการขาดสติ จึงขอถือฤกษ์วันมาฆบูชานี้ พร้อมใจกัน “ฝึกสติ” คือ รู้ตัว ไม่เผลอ ไม่ประมาท อยู่กับความรู้สึก ความคิด การพูด และการกระทำในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้จิตมั่นคง ไม่แกว่งกับสิ่งที่เข้ามากระทบ วิธีง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา คือ การรับรู้ลมหายใจ นั่งตัวตรง มือวางบนตัก หายใจเข้าออกตามธรรมชาติ รับรู้ลมหายใจให้ชัดเจนขึ้นต่อเนื่องประมาณ 1 นาที หรือใช้การเดินโดยสัมผัสพื้นให้เต็มเท้า หายใจเข้าออกตามธรรมชาติ หรืออาจใช้สิ่งของนุ่มๆ น้ำหนักเบาแตะที่หน้าท้อง ให้รู้สึกถึงแรงกระเพื่อมที่หน้าท้อง หากมีความคิดอื่นเข้ามาแทรก ให้กลับมาที่ลมหายใจใหม่ ทำซ้ำๆ ให้ชำนาญและชินกับการกลับมารู้สึกตัวได้เร็วขึ้น โดยผลที่เกิดขึ้น ผู้ฝึกจะรู้ทันจิตใจตัวเอง ยับยั้งชั่งใจได้ เมื่อโกรธหรือหงุดหงิด จะระงับได้ ผ่อนคลาย ปลอดโปร่งขึ้น ทั้งนี้ การฝึกสติทำได้ทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว โดยเฉพาะในเด็ก ฝึกพร้อมกับกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารที่อยู่ตรงหน้า คิดถึงที่มาของอาหาร ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง การรับรู้รสชาติอาหาร การได้ยินเสียงธรรมชาติ เสียงดนตรี ที่สำคัญไม่ควรทำร่วมกับกิจกรรมอื่น เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ร่วมกับลูกได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกสติควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรคาดหวัง กดดัน บังคับ ให้ลูกทำ เพราะจะนำไปสู่ปัญหาการทะเลาะในครอบครัวได้
แนวทางที่ 3 การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันมาฆบูชา โดยได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ได้จัดทีมเฉพาะกิจจากส่วนกลางลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านค้าในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 หากพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดและมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th