ปลัด พม. เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “การมอบนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” พร้อมมอบเกียรติบัตร ศพค. ระดับดีเด่นและดี จำนวน ๙๒๙ แห่ง

ข่าวทั่วไป Sunday January 17, 2016 15:15 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๑๗ ก.พ. ๕๙) เวลา ๑๑.๓๐ น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "การมอบนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” และมอบเกียรติบัตรให้กับศูนย์พัฒนาครอบครัว (ศพค.) ที่มีผลการดำเนินงานในปี ๒๕๕๘ ในระดับดีเด่นและระดับดี รวมจำนวนทั้งสิ้น ๙๒๙ แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และตระหนักว่าความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวนั้นเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ มีโอกาสที่จะประสบกับความรุนแรงในครอบครัวได้ทั้งสิ้น จึงเป็นหน้าที่ ของทุก ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม

นายไมตรี กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่กำหนดให้เรื่องการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวเป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับที่ ๔ ของกระทรวงฯ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานภายในและภายนอกในการกำหนดแนวปฏิบัติและการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้มีเอกภาพมากยิ่งขึ้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ผ่านกลไกการทำงาน ในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่อาสาเข้ามาทำงานเป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว โดยการให้คำปรึกษา เฝ้าระวัง สำรวจข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาของครอบครัวในชุมชน รวมถึงการเป็นพลังในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๗,๐๑๑ แห่ง เป็นศูนย์ที่มีผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ในระดับดีเด่น จำนวน ๔๓๖ แห่ง และระดับดี จำนวน ๔๙๓ แห่ง รวมจำนวนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนระดับดีเด่นและดี จำนวนทั้งสิ้น ๙๒๙ แห่ง โดยกิจกรรมที่ศูนย์ฯเหล่านี้ดำเนินการมีหลากหลาย อาทิ การสำรวจข้อมูล วิเคราะห์ วางแผนและจัดระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ไม่พร้อม และปัญหาสังคมอื่นๆ ในชุมชน เป็นต้น

นายไมตรี กล่าวต่ออีกว่า ตนขอมอบนโยบายเกี่ยวกับการทำงานเรื่องความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำกิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของแต่ละพื้นที่ จำนวน ๓ ข้อ ดังนี้ ๑) ความรุนแรงทุกรูปแบบย่อมนำไปสู่ความรุนแรงไม่รู้จบ ผู้ที่เคยกระทำความรุนแรงมักจะกระทำต่อไป ผู้ถูกกระทำอาจแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงกับคนอื่นต่อไป ผู้รู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในความรุนแรง เช่น เด็กที่เห็นพ่อแม่กระทำความรุนแรงต่อกัน ก็มีการเรียนรู้และเลียนแบบที่จะกระทำความรุนแรง ๒) การรณรงค์ให้หยุดความรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการแก้ปัญหา แต่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ผิวเผิน สิ่งที่ควรทำคือการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่สาเหตุแท้จริง อาทิ การเสริมพลังให้ผู้ถูกกระทำโดยเฉพาะผู้หญิงได้เข้าใจตนเอง เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีเวลาที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง การได้งานทำที่มั่นคงและได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ มีเวลาในการพัฒนาตัวเอง และมีเวลา อยู่ร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว และ ๓) ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติงาน สร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัดพื้นที่ต้องประสานงานกัน กำหนด ทิศทางการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพและสอดคล้องกับแผนพัฒนาในจังหวัดนั้นๆ

"ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน สามารถดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างไม่มีข้อจำกัด คือ องค์ความรู้และงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละปี รวมถึงการสร้างขวัญกำลังใจและยกย่องเชิดชูเกียรติให้สังคม เห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ของคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้สังไทยเราเข้มแข็ง และยั่งยืนได้”นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ