พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “Shared River, Shared Future

ข่าวทั่วไป Wednesday March 23, 2016 14:04 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหัวข้อ “Shared River, Shared Future”โดยมีผู้นำและตัวแทนจากอีก 4 ประเทศเข้าร่วมการประชุมฯ

วันนี้ (23มีนาคม 2559) เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติอ่าวย่าหลง(Yalong Bay) เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหัวข้อ “Shared River, Shared Future”โดยมีผู้นำและตัวแทนจากอีก 4 ประเทศเข้าร่วมการประชุมฯ ดังนี้ ได้แก่ ดร. สาย หมอก คำรองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชานายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามภายหลังการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเป็นการประชุมระดับผู้นำ ครั้งแรกเพื่อก่อตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง และจากความจริงที่ว่า น้ำคือชีวิต จึงถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าแรกของกรอบความร่วมมือนี้ ที่สะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองอันแน่วแน่ของสมาชิกทุกประเทศ “ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายเดียวกันและมีอนาคตร่วมกัน (Shared River, Shared Future)” เป็นการร่วมมือกันพัฒนาอนุภูมิภาคให้แข็งแกร่งควบคู่กับการเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความยินดีที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.2012 ได้พัฒนาขยายมาสู่การจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ที่ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ด้วยการสนับสนุนจากจีน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหลี เค่อ เฉียง ที่ผลักดันกรอบความร่วมมือนี้ด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม ตลอดจนการสนับสนุนจากทุกประเทศสมาชิก ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ในการพัฒนากรอบความร่วมมือนี้ต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สมาชิกทั้ง 6 ประเทศ เชื่อมต่อกันด้วยแม่น้ำล้านช้าง - แม่โขง สายเดียวกัน ต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เป็นเพื่อนบ้านที่ส่งเสริมเกื้อกูลกันในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ติดกัน ประเทศสมาชิกจึงเผชิญกับความท้าทายร่วมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ภัยธรรมชาติอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และเพื่อผลประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เท่าเทียมกัน

การประชุมฯในวันนี้ เป็นการร่วมกันวางรากฐานสำคัญของกรอบความร่วมมือแม่ โขง - ล้านช้าง ที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงสังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับสามเสาหลักของอาเซียน เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนา ซึ่งจะสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนและสอดคล้องกับเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยประเทศสมาชิกจะต้องเน้นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยยึดหลักฉันทามติ ความเสมอภาค การเคารพและมีความรับผิดชอบต่อกัน การมีส่วนร่วม ของสมาชิกทุกประเทศ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและประโยชน์ที่เท่าเทียมกันของประเทศสมาชิก และยึดมั่นตามพันธกรณีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างนี้ก็เป็นพื้นฐานของการพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ความเป็นประชาคมแม่น้ำโขงในอนาคต โดยแม่น้ำโขงเป็นสายใยที่ผูกพันประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเดียวกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ก่อตั้งขึ้นท่ามกลางกรอบ ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีอยู่แล้วหลายกรอบ ภารกิจที่ท้าทายของประเทศสมาชิก คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ของกรอบเพื่อดำเนินความร่วมมือ อย่างสร้างสรรค์และเพิ่มคุณค่าต่อกรอบความร่วมมืออื่น ๆ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า คุณค่าเพิ่มที่สำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ทั้ง 6 ประเทศต่างตั้งอยู่บนริม ฝั่งแม่น้ำสายเดียวกัน จึงควรใช้โอกาสและศักยภาพในการร่วมมือกันเพื่อ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยธรรมและยังประโยชน์ ต่อประชาชน ตลอดจนเกษตรกรผู้พึ่งพิงน้จากแม่น้ำโขง - ล้านช้าง ใน การดำรงชีวิตด้านต่าง ๆ และเผชิญกับความท้าทายจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการกำหนดแนวทางความร่วมมือที่ มุ่งเน้นผลลัพธ์ สำหรับประเทศไทยยินดีที่ประเทศสมาชิกตกลงที่จะดำเนินโครงการเร่งด่วนที่จะเน้นผลเป็นรูปธรรมภายในช่วง 1-2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับ แนวทางการปฏิรูปประเทศ (Roadmap) ของไทยด้วย นายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จของกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง จะเสริมสร้างให้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคก้าวไปด้วยกันและเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในรูปแบบใต้ - ใต้ ที่ประสบความสำเร็จ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมโลก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ