นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คตช. ย้ำนโยบายสร้างธรรมาภิบาล-ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

ข่าวทั่วไป Monday March 28, 2016 15:42 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/59 ย้ำนโยบายสร้างหลักธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง หากพบการกระทำผิดต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงผลการแก้ปัญหาทุจริตในวงกว้าง

วันนี้ (28 มี.ค.59) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2559 โดยมี พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม พลเอก ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คตช. พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (เลขาธิการ ป.ป.ท.) ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

พลเอก ชาตอุดม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายเน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการภายใต้ธรรมาภิบาล ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง หากพบกรณีที่มีการกระทำความผิด จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของ คตช. โดยเฉพาะด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ด้านการประชาสัมพันธ์ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญว่าต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง เพราะรัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะการศึกษาหลักสูตรโตไปไม่โกง ที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าขอให้อยู่ในหลักสูตรของการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยให้มีการประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ

พร้อมกับนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หาเวลาที่เหมาะสม ขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ให้มีการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในกิจกรรมเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต และการป้องกันการทุจริต พร้อมกับสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อมูลเชิงตัวเลขว่าได้มีการรับรู้จากประชาชนอย่างไร และได้สั่งการให้เร่งรัดแก้ไขกฎหมาย การออกกฎหมาย หรือการออกระเบียบต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ หลักเกณฑ์การกำหนดราคากลาง หรือกฎหมายใดที่มีความจำเป็นก็ให้เร่งรัดออกกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว

พลเอก ชาตอุดม กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เรื่องโครงการขนาดใหญ่ การจัดซื้อจัดจ้าง นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าจะต้องดำเนินการโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกรมบัญชีกลางจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ผ่านทางเว็บไซต์ หรือเอกสารต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเรียกดูได้ ให้ประชาชนได้รับทราบทั้งที่มาที่ไปของการดำเนินการ การประกวดราคาและผลการดำเนินการ

ด้าน เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายและมีข้อสั่งการเพิ่มเติมในส่วนงานของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ว่า 1. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ให้มุ่งเน้นให้การปฏิบัติเกิดธรรมาภิบาลภาครัฐอย่างจริงจัง เน้นการป้องกัน กรณีข้อสงสัยว่ามีการกระทำที่ไม่อยู่ในกรอบธรรมาภิบาลหรือสงสัยว่าจะทุจริต ถ้าตรวจพบให้แจ้งต้นสังกัดดำเนินการแก้ไขปัญหาทันที กับให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าผิดวินัยหรือไม่ โดยไม่ต้องรอให้มีการทุจริต 2. เรื่องการใช้มาตรการปกครองทางวินัยเพื่อป้องกันการทุจริตและเพื่อทำให้การดำเนินงานภาครัฐอยู่ในกรอบธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ซึ่งมติเดิมของ คตช. ได้สั่งการให้ ศอตช. กระทรวง ไปติดตามว่าแต่กระทรวง กรม มีหนังสือร้องเรียน หรือมีการดำเนินการทางวินัยจำนวนเท่าไร และให้รายงานมาที่ ศอตช. ซึ่งในที่ประชุม คตช. วันนี้ ศอตช. โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวง หรือ ศปท. กระทรวง ได้รายงานผลการดำเนินการโดยใช้มาตรการทางวินัย/ปกครอง ว่า มีการรายงานมาแล้ว 30 หน่วยงาน จากทั้งหมด 35 หน่วยงาน โดยอีก 5 หน่วยงานที่ยังไม่ได้รายงานมานั้นนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ไปดำเนินการติดตาม สำหรับจำนวนเรื่องที่ ศปท. ทั้ง 30 หน่วยรายงานมารวมทั้งหมด 894 เรื่อง มีการดำเนินการทางปกครอง/วินัย 71 เรื่อง ยุติเรื่อง 56 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 755 เรื่อง และยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากเป็นเรื่องรับใหม่ 12 เรื่อง โดย ศอตช. จะดำเนินการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของแต่ละเรื่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้มาตรการทางวินัย/ปกครอง บรรลุผลเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดธรรมาภิบาลภาครัฐ

3. สืบเนื่องจากการประชุม คตช . ครั้งที่ 1/2559 มีการหารือในที่ประชุมว่าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต หรือ ศปท. ขาดกำลังคน ไม่มีอัตราที่จะทำงาน ทำให้งานไม่บรรลุผลเป็นรูปธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ศอตช. ไปศึกษาแนวทางการแก้ไข ทั้งนี้ ศปท. ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้แต่ละกระทรวงเกลี่ยอัตราเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ให้มาปฏิบัติงานใน ศปท. เป็นโครงสร้างตามปกติ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงถึงปัจจุบันว่ามีหลายกระทรวงที่ไม่ได้เกลี่ยอัตรากำลัง แต่เป็นการโยกเจ้าหน้าที่ให้มาทำงานอีกหน้าที่หนึ่ง จึงทำให้งานเป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่คนเดียวต้องทำงานสองหน้าที่ งานจึงไม่เดิน ประกอบกับโครงสร้างหลักไม่มีการสร้างสายบังคับบัญชาในองค์กรไว้ เจ้าหน้าที่จึงมองไม่เห็นความก้าวหน้าของงาน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ ศอตช. หารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อกำหนดรูปแบบโครงสร้างอัตรากำลังของ ศปท. และให้เสนอเข้าที่ประชุม ศตช. โดยเร็วเพื่อให้งานเดินหน้าและให้เจ้าหน้าที่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่

4. นายกรัฐมนตรีได้สอบถามความคืบหน้าของการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ประสานสถานทูตกลุ่มประเทศอาเซียนไปแล้ว 6 ประเทศจาก 9 ประเทศ โดยหลายสถานทูตมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาด้านทุจริตของไทย และได้มีการตกลงร่วมกันว่าในการทำงานระดับเจ้าหน้าที่ต่อไปนี้จะมีการประสานและทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ส่วนในเรื่องนักลงทุนต่างประเทศ ทาง ป.ป.ท. ได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมสภาหอการค้านานาชาติกว่า 40 ประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายว่า ในกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการค้าการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ให้รีบดำเนินการแก้ไขทันที และให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ 5. ให้รีบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีทุจริตที่ยังมีค้างอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่ละเลยจนทำให้คดีหมดอายุความ โดยให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าเกิดจากอะไรแล้วให้รีบดำเนินการแก้ไข 6. การดำเนินงานตามมติและข้อสั่งการของ คตช. ที่ได้มีมติและข้อสั่งการไปมาก ซึ่งบางเรื่องมีความคืบหน้าในการดำเนินการ แต่บางเรื่องยังไม่มีความคืบหน้า ที่ประชุม คตช. จึงมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามงานมติ คตช. โดยมี เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ ศอตช. เป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะอนุกรรมการต่าง ๆ (4 ป) คตร. กรมสารนิเทศ กรมประชาสัมพันธ์ เป็นคณะทำงาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่รวบรวมมติ ข้อสั่งการ ประสานงาน ติดตามความคืบหน้า ขับเคลื่อนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และรายงานให้ คตช. ทราบเป็นระยะ

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ได้รายงาน คตช. ถึงความก้าวหน้าในการผลิตสื่อและรณรงค์สร้างการรับรู้ “สำนึกไทย ไม่โกง” โดยมีการผลิตสื่อรณรงค์ “สำนึกไทย ไม่โกง” ประกอบด้วย 1) คลิปโฆษณา จำนวน 4 เรื่อง 2) Animation “ก้านกล้วยกับโตไปไม่โกง” จำนวน 10-15 ตอน ความยาวตอนละ 1 นาที 3) เพลงบ้านของเรา ขับร้องโดยนายสุชาติ แซ่เห้ง หรือชาติ เดอะวอยซ์ 4) สปอตวิทยุ จำนวน 5 เรื่อง ความยาวเรื่องละ 30 วินาที รวมทั้ง มี Campaign Ambassadors “สำนึกไทย ไม่โกง” โดยคัดเลือก Campaign Ambassadors จาก 4 สาขา ได้แก่ 1) น.ส.อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ (แนท) มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2558 สาขา Celebrities 2) น.ส.กันติชา ชุมมะ (ติช่า The Face) สาขา Media 3) นายนำโชค ทะนัดรัมย์ หรือสิงโต นำโชค สาขา Public Figures และ 4) ส.ต.ต.ชนาธิป สรงกระสินธ์ (เจ) นักฟุตบอลทีมชาติไทยและสโมสรบีอีซี-เทโรศาสน สาขา Leader โดยก่อนและหลังการแถลงข่าวผลการประชุม คตช. วันนี้ได้มีการเปิดตัว Campaign Ambassadors แก่สื่อมวลชน รวม 2 สาขา ได้แก่ สาขา Public Figures และสาขา Leader

----------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ