บทบาทไทยในการส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์

ข่าวทั่วไป Wednesday March 30, 2016 16:00 —สำนักโฆษก

วันนี้ (พุธ 30 มีนาคม 2559) พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะร่วมรับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ในฐานะไทยที่มีบทบาทอย่างเข้มขันในการกำจัดสารกัมมันตรังสีไม่ให้มีอยู่ภายในประเทศ ร่วมกับ 17 ประเทศทั่วโลก ในโอกาสร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม -1 เมษายน 2559

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 นี้ เพื่อย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมกับผู้นำทั่วโลกในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เพื่อรักษาโลกให้ปลอดภัยจากนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี โดยไม่ให้ตกอยู่ในการครอบครองของกลุ่มบุคคลไม่พึงประสงค์ โอกาสนื้นายกรัฐมนตรีจะเข้ารับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ซึ่งเป็นการยืนยันว่าไทยเป็นที่ยอมรับ (recognition) ในระดับสากล ในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำในระดับโลก ในการกำจัด highly enriched uranium ไม่ให้มีอยู่ในประเทศ

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการนำพลังงานนิวเคลียร์และรังสีมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์และเพื่อสันติ โดยเฉพาะสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้พัฒนาขีดความสามารถด้านมาตรวัดรังสีทางชีววิทยา และการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์และรังสี (Nuclear Forensics) ซึ่งเป็นการตรวจวัดรังสีทางชีววิทยานั้น เพื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีเซลล์พันธุศาสตร์ ในการศึกษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสารพันธุกรรมในลักษณะต่างๆ ทำให้รู้ถึงปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับก่อนที่จะแสดงความผิดปกติทางร่างกายที่อาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และก่อมะเร็ง รวมทั้งการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์และรังสี (Nuclear Forensics) เป็นการตรวจพิสูจน์วัสดุนิวเคลียร์ วัสดุกัมมันตรังสี ในกรณีที่เกี่ยวข้องหรือถูกใช้ในทางผิดกฎหมาย รวมถึงวิเคราะห์เส้นทางการลักลอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประเมินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน สภาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน สอบสวน รวมทั้งวางมาตรการในการป้องกัน

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลพลังงานปรมาณูแห่งอาเซียน (ASEANTOM) และในฐานะรัฐสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(International Atomic Energy Agency – IAEA) ไทยส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 1540 เกี่ยวกับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ วาระปี 2560-2561 นี้ ไทยยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในกรอบดังกล่าวอย่างเข้มแข็งต่อไป

ไทยกับสหรัฐ ฯ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Sherpa) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12 – 13 กุมภาพันธ์ 2558 ณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีผู้แทนรัฐสมาชิก และองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในระดับชาติและระดับโลก ในการประชุม NSS ปีนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำทุกครั้งที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อปี 2553 การประชุมครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล เกาหลี เมื่อปี 2555 และการประชุมครั้งที่ 3 ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2557 และ ประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาในปีนี้ด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ