วันที่ 6 เมษายน 2559 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการโอท็อปวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก กระตุ้นการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ ภายใต้โครงการยกระดับโอท็อปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการมอบ “คูปองวิทย์เพื่อโอท็อป” สนับสนุนเงินทุนและองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการโอท็อปทั่วประเทศ
“คูปองวิทย์ฯ จะครอบคลุมการให้บริการ 6 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ ออกแบบกระบวนการผลิต ออกแบบเครื่องจักร ออกแบบบรรจุภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบมาตรฐาน สำหรับ 1) ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการโอท็อปที่เพิ่งเริ่มต้น (Start Up) เช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโอท็อป 2) ผู้ประกอบการโอท็อปที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (Existing) และ 3) ผู้ประกอบการโอท็อปที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน และต้องการเพิ่มศักยภาพ (Growth) โดยผู้ที่จะขอรับคูปองวิทย์ฯ ได้จะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ในการยกระดับหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป และผลิตภัณฑ์นั้นต้องแสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ หรือก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน เป็นต้น”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีองค์ความรู้ อย่างเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้ามาช่วยผู้ประกอบการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของสินค้าในท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้ เกิดการจ้างงาน และชุมชนเข้มแข็ง โดยรัฐบาลเริ่มมอบคูปองวิทย์ฯ มาตั้งแต่ ม.ค.59 และคาดว่าในปี 60 จะสามารถสร้างผู้ประกอบการโอท็อปใหม่ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วย 330 ราย มีผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ได้รับการยกระดับมาตรฐาน 620 ผลิตภัณฑ์ เกิดโอท็อประดับ SMEs 105 ราย และส่งออก 20 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี
“ท่านนายกฯ กำชับให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปดูแลเรื่องการต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการหลังจากได้รับเงินทุนหรือองค์ความรู้จากคูปองวิทย์ฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ผู้ประกอบการและชุมชนสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยเชื่อมโยงกับโครงการอื่นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือหน่วยงานอื่นมีอยู่ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้เปล่าเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม วางจำหน่ายสินค้าในร้านประชารัฐสุขใจ Shop หรือ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ การสนับสนุนคูปองวิทย์ฯ จะให้เป็นเงินทุน 300,000 – 500,000 บาท/ปี/ราย ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ การบริการ หรือการจ้างงาน โดยผู้ประกอบการอาจร่วมลงทุนได้ ทั้งในรูปของตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อเสริมให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ประชาชนสามารถติดต่อขอรับคูปองได้ที่หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทุกหน่วยงาน หรือโทร.สายด่วน 1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th