คนร.แจง ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เป็นการพัฒนาการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในเรื่องของ Governance และการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยืนยันไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 20, 2016 14:15 —สำนักโฆษก

วันนี้ (20 เม.ย.59) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 2/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. พร้อมด้วยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้แถลงผลการประชุม คนร. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง อาทิ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงการคลัง/กระทรวงเจ้าสังกัด ส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ (สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม) นักวิชาการ นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (IOD ธนาคารโลก) สื่อมวลชน/ ภาคประชาสังคม พร้อมรับฟังข้อห่วงใยจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะประเด็นที่มีความเป็นกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....จะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น คนร. ยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด แต่เป็นการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจในเรื่องของ Governance ให้ดีขึ้น เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าแนวการปฏิรูปที่ปรากฏในกฎหมายดังกล่าวเป็นการปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบันรัฐวิสาหกิจที่พยายามจัดกลไกต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐวิสาหกิจในการเป็นกลไกของรัฐในการพัฒนาและการให้บริการที่ดี ตลอดจนมีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุล (checks and balances) อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาชาติในด้านอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำที่ประชุมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสร้างการรับรู้และชี้แจงให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นต่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ และฝ่ายเลขานุการ คนร. รับที่จะไปดำเนินการสร้างความเข้าใจเพื่อให้สาธารชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจว่าการมีพระราชบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นและเป็นเจ้าของ 100 % ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ที่ประชุมครม. พิจารณาได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2559 ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประมาณ 1 เดือน เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ซึ่งที่ประชุม คนร. ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านภายในปี 2559 นี้ เพื่อให้มีระยะเวลาเตรียมความพร้อมในการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดและให้สาธารณชนได้ประจักษ์ถึงผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

พร้อมทั้งที่ประชุมรับทราบแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (TOT และ CAT) ซึ่งที่ประชุมให้ TOT และ CAT ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน โดยให้ TOT เป็นผู้นำการลงทุนในโครงข่ายภายในประเทศ และเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายอื่นใช้โครงข่ายได้ และให้ TOT เป็นผู้นำเรื่องท่อร้อยสาย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำ Infrastructure Fund ส่วน CAT จะเป็นผู้นำลงทุนในโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยเปิดให้ผู้ให้บริการรายอื่นใช้โครงข่ายได้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่น เช่น เรื่องอินเทอร์เน็ต Data Center ระบบ cloud จะเป็นการดำเนินธุรกิจร่วมกันและหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนและให้บริการ ตรงนี้ก็จะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกันนี้ที่ประชุม คนร. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดแผนและติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาองค์กรของ บมจ.ทีโอที และบมจ. กสท. ให้เป็นรูปธรรมและมีการกำหนดเวลาดำเนินการให้ชัดเจนตามแนวทางที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กำหนด และเห็นควรให้มีการนำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.ทีโอที และบมจ. กสท. ตลอดจนกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ที่ประชุมรับทราบแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของ บกท. ซึ่งผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้น สำหรับปี 2559 ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องผลกำไรจากการดำเนินงาน การลดค่าใช้จ่ายไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง การบริหารจัดการทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็นในการถือครองเป็นไปตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และให้นำมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินที่เทียบเคียงได้มากำหนดเป็นตัวชี้วัดและเป้าหมายด้วย ทั้งนี้ให้นำตัวชี้วัตการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของ บกท. สำหรับปี 2559 กำหนดเป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงของ บกท. ตอลดจนกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ประชุมได้รับทราบผลการแก้ไขปัญหาองค์กรของ ขสมก. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรสำหรับปี 2559 ตามที่ ขสมก.เสนอ โดยภาพรวมจะเป็นการปรับแผนการจัดหารถโดยสาร จำนวน 3,183 คัน ซึ่งจะต้องเร่งให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว แบ่งเป็น รถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) 489 คัน รถโดยสารไฟฟ้า 500 คัน (ระยะเริ่มต้น 200 คัน) ปรับปรุงสภาพรถ 672 คัน ใช้รถสภาพเดิม 1,522 คัน และให้ ขสมก. เร่งดำเนินการนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป พร้อมทั้ง ที่ประชุม คนร.ขอให้ ขสมก. ลดผลขาดทุนระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2559 เปรียบเทียบกับเดือนมกราคม – มีนาคม 2559 ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท รวมถึงนายกรัฐมนรี ได้เน้นย้ำให้เร่งจัดทำแผนการปรับปรุงอู่จอดรถโดยสารและแผนการเดินรถของกรมการส่งขนทางบกให้ชัดเจน รวมทั้งให้นำตัวชี้วัดแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรสำหรับปี 2559 ที่ ขสมก. เสนอ กำหนดเป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารระดับสูงของ ขสมก. ตลอดจนกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. การไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ประชุมได้รับทราบผลการแก้ไขปัญหาองค์กรของ รฟท. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรสำหรับปี 2559 ที่ รฟท. เสนอ โดยได้มีการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของ รฟท. สำหรับปี 2559 ดังนี้ การส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสันให้แก่กระทรวงการคลัง การก่อสร้างรถไฟรางคู่ การบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้า Airport Rail Link (ARL) ให้มีการจัดทำแผนให้ชัดเจนและนำเสนอที่ประชุม คนร. พิจารณาอีกครั้ง การพัฒนาที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถ (Non-core) เช่น การจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาที่ Non – core ทั้งระบบให้ชัดเจน การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณที่ดินแปลงใหญ่ รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่งภายในประเทศทั้งระบบให้เกิดความชัดเจน ภายใน 30 วัน เพื่อเสนอที่ประชุม คนร. พิจารณาต่อไป

5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประชุมได้รับทราบผลการแก้ไขปัญหาองค์กรของ ธพว. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรสำหรับปี 2559 ที่ ธพว. เสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้ ธพว. สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายของแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของ ธพว. สำหรับปี 2559 จึงเห็นควรกำหนดตัวชี้วัดการแก้ไขปัญหาองค์กรของ ธพว. สำหรับปี 2559 ดังนี้ 1) การบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สามารถลด NPLs ให้เหลือไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 พร้อมทั้งให้จัดทำ Action Plan กำหนดเป้าหมายในการบริหารติดตามหนี้ของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน 2) การปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs รายย่อย ที่มีวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อได้ จำนวน 35,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 3) การดำเนินการตามความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยในรายงานการตรวจสอบ ธพว. รวมทั้งให้นำตัวชี้วัดดังกล่าวกำหนดเป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของ ธพว. ตลอดจนกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดต่อไป

6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ประชุม คนร. ให้เดินหน้าในเรื่องการหาพันธมิตรร่วมลงทุนต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดตั้ง AMC เพื่อรับหนี้เสีย (NPF) ในส่วนที่ไม่ใช่ของประชาชนชาวมุสลิม ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2559 กระทรวงการคลังจะสามารถจัดตั้ง AMC ได้ เพื่อจัดการแยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกัน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ