พลเอก ประยุทธ์ฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อ.ฝางและ อ.แม่แจ่ม แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ โดยประชาชนชาวเชียงใหม่พร้อมนำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
วันนี้ (27 เม.ย.59) เวลา 14.00 น. ณ ห้องทองกวาว อาคารนิทรรศการ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 16 จัดที่ดินให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม แก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร ผู้ยากจน และการรุกล้ำเขตป่าสงวน พร้อมกับมอบเครื่องจักรกลการเกษตร และปัจจัยการผลิตให้แก่ตัวแทนเกษตรกร เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มอบโล่รางวัลการแก้ไขปัญหาหมอกควัน สำหรับอำเภอที่ลดจำนวนการจุดความร้อนได้มากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม พร้อมมอบเครื่องจักรกลการเกษตร รถอีแต๋น จำนวน 15 คัน ให้แก่เกษตรกรอำเภอหางดง
ด้าน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเงินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพการเกษตรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 ตามมาตรการที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 22,507,481 บาท ให้แก่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล รวมทั้งมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่ม ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,878 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา และป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2,308 ไร่ ให้แก่นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งมอบให้ประชาชนตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จำนวน 1 ฉบับ และอำเภอแม่แจ่ม จำนวน 1 ฉบับ พร้อมมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน 14 ฉบับ ให้แก่ผู้ใหญ่บ้าน 14 หมู่บ้าน ในตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม รวมถึงมอบบ่อน้ำบาดาลตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งปีงบประมาณ 2559 จำนวน 11 แห่ง 12 บ่อ ให้แก่ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งในจังหวัดเชียงใหม่ และมอบโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแก้วพร้อมระบบส่งน้ำให้แก่ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,000 คน เข้าร่วมงาน
พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ประมาณ 20,107.057 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,566,910 ไร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศประกอบด้วย 25 อำเภอ 204 ตำบล 2,066 หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 211 แห่ง ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและปัญหาความต้องการของประชาชน ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ประกอบด้วย มาตรการเตรียมการและป้องกัน มาตรการรับมือ และมาตรการสร้างความยั่งยืน โดยบูรณาการงบประมาณจากทุกภาคส่วน ทั้งงบจังหวัด/กลุ่มจังหวัด งบ Function และงบกลาง ใช้ระบบสั่งการแบบ Single Command ผ่านศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ทั้ง 3 ระดับ คือ จังหวัด อำเภอ และตำบล รวมทั้งการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานรายพื้นที่ (Area Base) ได้แก่ พื้นที่ทางหลวง พื้นที่อยู่อาศัยและชุมชน พื้นที่ทำการเกษตร และพื้นที่ป่าไม้ ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ในช่วง “60 วัน ห้ามเผาเราทำได้ เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน” จังหวัดเชียงใหม่สามารถลด HOTSPOT ได้ 46.87% และค่าคุณภาพอากาศ PM10 ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจำนวน 3 วัน คิดเป็น 17.65% ในปีนี้ประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาหมอกควันไฟป่ามากขึ้น มีการร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการลาดตระเวน และดับไฟป่า ในลักษณะของประชารัฐเป็นอย่างดีทุกอำเภอ จนสามารถสร้างแม่แจ่มโมเดลจนประสบความสำเร็จและสามารถขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป
2. การบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในปี 2558 ถึงปี 2559 สถานการณ์น้ำท่าของลุ่มน้ำปิงตอนบนมีปริมาตรน้ำท่าน้อยที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลสถิติจนถึงปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตทั้งภาพรวมของลุ่มน้ำ โดยมีการวิเคราะห์สมดุลน้ำ การส่งน้ำแบบขั้นบันได และการส่งน้ำแบบรอบเวร มีการสร้างความเข้าใจและทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน รวมทั้งการกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอำเภอต่างๆ นอกจากนี้ จังหวัดยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนอาชีพและพฤติกรรมของประชาชน เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การส่งเสริม Smart Farmer ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้
3. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดศักยภาพของชุมชน ฐานทรัพยากรทางการเกษตร และทุนทางสังคม เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการตลาด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้า OTOP อาทิ การพัฒนาข้าวของอำเภอพร้าวให้เป็น Product Champion ที่มีมาตรฐานจนสามารถบรรจุถุงภายใต้เครื่องหมาย “Amway” ได้ การปลูกสมุนไพร “ผักเชียงดา” แบบอินทรีย์ ซึ่งสามารถจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศฮอลแลนด์และอังกฤษ โครงการ OTOP ขึ้นเครื่องบิน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีผลิตภัณฑ์โดดเด่นที่ได้รับการคัดเลือก เช่น หมวกและผ้าพันคอจากใยกัญชง เครื่องเขิน และช้างศิลาดลเพ้นท์ลาย เป็นต้น ภายใต้นโยบายรัฐบาลดังกล่าวได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะสามารถพัฒนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
4. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล จังหวัดเชียงใหม่มีทั้งสิ้น 204 ตำบล มีโครงการจำนวน 3,399 โครงการ งบประมาณ 970,586,500 บาท โครงการส่วนใหญ่เป็นการจ้างแรงงานเกษตรกรและผู้ว่างงานในพื้นที่ มาดำเนินการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในตำบลและหมู่บ้าน เช่น การปรับปรุงศาลาประจำหมู่บ้าน การขุดลอกลำเหมืองส่งน้ำ ขุดสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนโดยตรงอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตนเองด้วย
พร้อมกันนี้ ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเทิดทูน/ธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาพื้นที่ การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ตลอดจนการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ สืบไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมานตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสที่เดินทางมาพบปะกับประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานสักขีพยานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอฝาง และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการจัดทำที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนการมอบเครื่องจักรกลการเกษตร และปัจจัยการผลิตให้แก่ตัวแทนพี่น้องเกษตรกร และได้มารับทราบข้อมูลและเห็นความเป็นอยู่ของประชาชนในวันนี้ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าอันเป็นสมบัติล้ำค่า โดยใช้สอยที่ดินให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ด้านเกษตรกรรมและการลงทุน เพื่อให้ใช้ที่ดินผืนนี้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความกินดีอยู่ดี และส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในวันข้างหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ มีป่าไม้พันธุ์พืชจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพทำการเกษตรกลับยากจน ไร้ที่ดินทำกิน ที่ผ่านมาการจัดสรรที่ดินทำกิน ผู้ที่ได้รับการจัดสรรมักมีการซื้อขายเปลี่ยนสิทธิ์ โดยขายให้กับผู้อื่นหรือนายทุนที่มาใช้พื้นที่ดังกล่าวทำประโยชน์ที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินตามกฎเกณฑ์ของรัฐและเอกสารสิทธิ์ในการแจกที่ดิน ซึ่งปัจจุบันต้องดำเนินคดีทางกฎหมายแก่ผู้ที่ซื้อขายสิทธิ์และมีการรุกล้ำทำการเกษตรอื่นๆ ในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวน มีการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่าทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของผืนป่า สูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติ และเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าและการเผาป่านั้นก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งทัศนวิสัยในการมองเห็น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าไว้แล้ว โดยมีแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเตรียมการทั้งในเรื่องจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ทั้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า ทำแนวกันไฟ ระดมเครือข่ายลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชน 2. มาตรการรับมือ ทั้งก่อนระยะวิกฤติ และระยะวิกฤติ ด้วยการใช้ระบบ single command ลาดตระเวนเฝ้าระวัง และดำเนินการลดฝุ่นละอองซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน 3. มาตรการฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ พร้อมกับส่งเสริมเครือข่ายเกษตรกร/ชุมชนปลอดการเผา ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตร ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะบรรลุผลสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้อย่างจริงจัง และให้แต่ละจังหวัดใช้กลไกประชารัฐในการแก้ไขปัญหา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ริมทางหลวง เฝ้าระวัง ระดมกำลังคน จัดหาอุปกรณ์ ระงับการเผาป่าหรือวัสดุการเกษตรโดยใช้วิธีการแปรรูปแทน จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบ และประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันดูแลพื้นที่ป่า ลดการเผาป่า เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมความเสียสละของเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกคนที่ได้ช่วยกันทำแนวกันไฟ เพื่อลดจำนวนป่าถูกทำลาย รวมถึงลดผลกระทบเรื่องฝุ่นละอองและหมอกควัน แต่ในขณะเดียวกันต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์อุบัติเหตุการลงพื้นที่ของชาวบ้านในการร่วมสนับสนุนปฏิบัติการทำแนวกันไฟป่า ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียแก่ครอบครัวสถาพรประเทือง ที่ต้องเสียสมาชิกในครอบครัวไป โดยในกรณีนี้ก็จะให้ทางการรับผิดชอบดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมกับเพิ่มความระมัดระวังและสร้างมาตรการความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากเรื่องป่าไม้ที่ทุกคนต้องร่วมกันดูแลรักษาให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว เรื่องน้ำก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญเพราะเป็นสิ่งหล่อหลอมชีวิตให้มีความสมดุล เป็นห่วงโซ่ของความสมบูรณ์ในธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งมีผลมาจากความแปรปรวนทางภูมิอากาศ โดยเกิดจากการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบด้วยการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ และเพื่ออนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำต้องมีมาตรการ ทั้งส่วนการบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอย่างจำกัดให้มีความเพียงพอต่อทุกส่วน ทั้งการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การใช้ระบบผันน้ำไปสู่ส่วนที่ขาดแคลน ซึ่งที่ผ่านมาภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการโครงการป้องกันภัยแล้ง โดยการสูบน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ โครงการฯ แม่แตง ไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ นับเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การใช้น้ำมีความเพียงพอและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ช่วยกันจัดสรรน้ำให้เหมาะสมในภาวะที่เรามีทรัพยากรน้ำอย่างจำกัด ดังนั้น ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของน้ำให้มากขึ้น ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในด้านอื่นๆ โดยใช้แนวทางของประชารัฐมาขับเคลื่อน เช่น การรวมกลุ่มการทอผ้า การเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะทำให้เกษตรกรมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งนี้ จะต้องพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามแนวคิดกิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise และ Social Business ซึ่งเป็นรูปแบบของธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ทำให้สังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น เติบโตจากภายในด้วยการพึ่งพาตัวเอง นำมาซึ่งผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น หรืออาจต่อยอดจากรูปแบบเดิม เช่น ภาคเหนือ เดิมทีมีการรวมกลุ่มเพื่อทำธุรกิจชุมชน หรือกิจการเพื่อสังคม เน้นที่การรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และชนกลุ่มน้อย โดยขอสนับสนุนการขับเคลื่อนแนวคิดกิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise และ Social Business ผ่านการขับเคลื่อนประชารัฐที่ทุภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน
พร้อมยืนยันรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศมีเจตนารมณ์ในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน และวางพื้นฐานของประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การดำเนินการในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งระบบ การทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การสร้างความเข้มแข็งจากภายในผ่านการดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ การสร้างระบบขนส่งมวลชนในประเทศอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก่อนขยายไปสู่ประเทศในภูมิภาคอื่น รวมทั้งให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินพบปะทักทายประชาชนที่มาต้อนรับ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่และผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
---------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th