วันนี้ (19 พ.ค. 2559) เวลา 15.00 น. นายติน จ่อ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - รัสเซีย สมัยพิเศษ ณ เมืองโซชิ สหพันธรัฐรัสเซีย
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีเมียนมา เนื่องในโอกาสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และยินดีที่ไทยและเมียนมาจะได้ทำงานร่วมกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศในอนาคต นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณ เมียนมาที่ได้ให้การต้อนรับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม ที่ผ่านมาและยินดีที่ทราบว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะแรงงาน โครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย การเชื่อมโยง เพื่อประโยชน์ยิ่งขึ้นของประชาชนของทั้งสองประเทศต่อไป ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีและนางอองซาน ซูจี ที่บริหารงานเพื่อประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้เมียนมาแข็งแกร่งไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประธานาธิบดีเมียนมาแสดงความยินดีทีได้มาประชุมอาเซียน-รัสเซีย ครั้งนี้ และพบกับนายกรัฐมนตรี และยินดีที่ได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ เพื่อผลักดันความร่วมมือให้ก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้ไทยและเมียนมา มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน และเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกับเมียนมา พร้อมกันนี้ประธานาธิบดีเมียนมาได้แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้ดูแลแรงงานชาวเมียนมาในไทยเป็นอย่างดี และขอให้นายจ้างชาวไทยดูแลคนงานชาวเมียนมาด้วย
นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเมียนมา ต่างเห็นว่า ไทยและเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีความสำคัญต่อกันและกัน ผลประโยชน์และความมั่นคงของทั้งสองประเทศผูกโยงกันอย่างแยกไม่ออก ทั้งสองประเทศต้องพึ่งพาอาศัยกันและต้องร่วมมือกันในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนที่เผชิญอยู่ร่วมกันสำหรับไทย นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมาให้มีความคืบหน้าต่อไป รวมทั้งความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาตามแนวชายแดนในทุกมิติ
สำหรับเรื่องกลไกหารือทวิภาคีนายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะผลักดันให้กลไกที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee - JBC) รวมทั้งคณะกรรมการร่วมระดับสูงเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (Joint High-level Committee - JHC) ให้กลับมาดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat - JCR) ระหว่างไทย - เมียนมา เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือระดับสูงในการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีให้มีความคืบหน้า
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยยินดีสนับสนุนความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับเมียนมาซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ ทั้งนี้ประธานาธิบดีเมียนมาหวังเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวจากไทยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของเมียนมา รวมถึงเชิญชวนนักลงทุนชาวไทยให้ไปลงทุนในเมียนมาเพิ่มขึ้น
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ประธานาธิบดีเมียนมาและรัฐบาลเมียนมาชุดใหม่ทำงานด้วยความราบรื่น ประสบผลสำเร็จทุกประการ เพื่อประโยชน์สุขและความเจริญและพัฒนาของประชาชนชาวเมียนมา
ที่มา: http://www.thaigov.go.th