วันนี้ (20 พ.ค. 59) เวลา 15.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน (Working Lunch) และเข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ณ ศูนย์การประชุมโรงแรม Radisson Blu and Congress Centre โดยพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในช่วง Working Lunch ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณสหพันธรัฐรัสเซียที่ได้เชิญอาเซียน สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ มาหารือกันในวันนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้หารือกันในบริบททวิภาคี ไทยสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจาการมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย
ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยงในด้านการคมนาคมและระหว่างประชาชน เพื่อลดความท้าทายจากการไม่มีพรมแดนติดกัน ความเชื่อมโยงในเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าว น่าจะขยายให้ครอบคลุมองค์การระหว่างประเทศและเวทีการประชุมที่สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue-ACD)
การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับรัสเซียถือเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในแผนปฏิบัติการฯ
ไทยอยากเห็นการพัฒนาความเชื่อมโยงทางคมนาคมระหว่างภูมิภาคยูเรเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการพัฒนา โดยอาศัยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบัน ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้กรอบกฎหมายต่าง ๆ อำนวยความสะดวกทางการค้าและการบริการ ระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยูเรเซีย องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ อาเซียน และกรอบความร่วมมือเอเชีย รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนเพื่อที่จะสร้างรากฐานของความเชื่อใจและความเข้าใจระหว่างประชาชนในภูมิภาค
การพัฒนาความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์นี้ จะสร้างพื้นที่ของความร่วมมือและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั้งยูเรเซียและเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งอุดมด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ของโลก ความร่วมมือระหว่างภูมิภาคยูเรเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความรุ่งเรืองไม่เฉพาะแต่กับอาเซียนและรัสเซีย แต่รวมถึงระดับโลกด้วย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับโลกเพื่อจัดการความท้าทายระดับโลกที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ที่นครนิวยอร์ก พร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศหรือองค์การระดับภูมิภาคต่างๆ ที่สนใจในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs)
ปัจจุบันอาเซียนกำลังดำเนินการในการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน
ในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity – MPAC) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเน้นการขยายความเชื่อมโยงภายในอาเซียนเป็นลำดับต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการเชื่อมโยงไปสู่นอกอาเซียนในลำดับต่อไปในอนาคต
ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียและองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ จะสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการปฏิบัติตามแผนแม่บทดังกล่าว รวมถึงระเบียบวาระด้านความเชื่อมโยงหลังปี 2558 (post-2015 ASEAN Connectivity agenda)
ในการนี้ เราอาจพิจารณาทำการศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ ระหว่างสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และกรอบความร่วมมือเอเชีย โดยสำนักเลขาธิการขององค์การดังกล่าวอาจมีการหารือและพัฒนาแนวคิดนี้ต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th