วันนี้ (25 พฤษภาคม 2559) เวลา 15.30 น. ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับฟังรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมเป็นประธานสักขีพยานในการมอบพันธุ์กุ้ง และพันธุ์ปลาตะเพียนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการประมงพื้นบ้าน และเป็นสักขีพยานมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ในพระราชพิธี "แรกนาขวัญ" มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี รวมพื้นที่ 3,182 ไร่ (ราษฎรผู้ได้รับประโยชน์ 199 ราย ในท้องที่อำเภอครบุรี และอาเภอเสิงสาง) และหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน จำนวน 11 แปลง (หมู่บ้าน) รวมพืนที่ 21,057 ไร่ ในอำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง และอำเภอปักธงชัย ให้แก่ผู้แทนเกษตรกร ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี จะพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งว่า ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 940 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยได้อนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 850,546,109 บาท ให้จังหวัดนครราชสีมา รวม 8 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิต รวบรวม และแปรรูปข้าวหอมมะลิ ทุ่งสัมฤทธิ์ของสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด 2.โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตพื้นที่นำร่อง (ระยะสั้น) 3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง 4.โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อยจังหวัดนครราชสีมา 5.โครงการเพิ่มมูลค่ายางพาราแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ 6.โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ OTOP โคราชสู่สากล 7.โครงการปรับปรุง Emergency Spillway เขื่อนลำพระเพลิง และ 8.โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ ในปี 2558/2559 จังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้ง จำนวน 11 อำเภอ รวมพื้นที่ได้รับความเสีย 467,706 ไร่ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้ 1. การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดเหตุ ภายใต้เป้าหมาย “ประชาชนชาวโคราช ต้องไม่ขาดน้ำอุปโภค บริโภค” โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดทำฝายกั้นน้ำตามนโยบายประชารัฐ ตามโครงการ “ชาวโคราชสร้างฝายสู้ภัยแล้ง” จำนวน 170 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำได้ 11,158,640 ลูกบาศก์เมตร และจะมีการสร้างเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวม 182 แห่ง 2.การเตรียมรับสถานการณ์ขณะเกิดเหตุ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ใช้รถสูบส่งระยะไกล และเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไปกักเก็บไว้เป็นน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาให้กับประชาชน การแจกจ่ายน้ำ ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต่อไปว่า บริเวณที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดของจังหวัดอยู่ในลุ่มน้ำ ลำเชียงไกร ประกอบด้วย อำเภอด่านขุนทด อำเภอพระทองคำ อำเภอเทพารักษ์ อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง และอำเภอเมืองนครราชสีมา ทางจังหวัด จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ซึ่งปัจจุบันมีความตื้นเขิน และไม่ได้รับการพัฒนามากว่า 40 ปีแล้ว โดยต้องการยกระดับความจุขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 25,000 ไร่ จำนวน 2,500 ครัวเรือน รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและป้องกันอุทกภัยต่อไป
จากนั้น นางสาวปาณชญา บวชสันเทียะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด ในนามตัวแทนของพี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมา ขึ้นกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลัง กลุ่ม Otop สนับสนุนให้มีรายได้ สนับสนุนปกรณ์การตลาดให้กับสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด เพื่อช่วยรับซื้อข้าวเปลือกเกี่ยวสดจากเกษตรกรได้ทั่วถึง และแปรรูปข้าวสารอย่างมีคุณภาพ ยกฐานะโรงพยาบาลบัวใหญ่ เพิ่มขีดความสามารถให้เป็นโรงพยาบาลจังหวัด ขุดลอกลำน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และกักเก็บน้ำเพื่อให้ทำนาในเขตทุ่งสัมฤทธิ์ ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงให้ สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งหมดได้รับผลจากงบประมาณที่นายกรัฐมนตรีให้มา ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พร้อมกันนี้ นายวสันต์ สินเชาว์ ตัวแทนเกษตรกรอำเภอปักธงชัย ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้การสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเขื่อนลำพระเพลิง หลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2553 ทำให้เขือนมีความสามารถในการกักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำส่วนเกิน ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมลดลง ช่วยให้พื้นที่ทางการเกษตรมีความมั่นคง สามารถทำการเกษตร ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นำความกินดีอยู่ดีมาสู่ประชาชน
ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับตอนหนึ่งว่าที่มาในวันนี้ มาในนามของรัฐบาล จุดประสงค์นั้นก็คือมาพบปะ พูดคุย ปรับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลนี้มีความต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง นายกฯ กล่าวต่อถึงผลงานที่รัฐเคยให้งบประมาณมาจัดการ เมื่อปี 2558 ว่าชื่นชมถึงความคืบหน้าในดำเนินงาน แต่ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งเป็นผลการจัดการอย่างไม่ถูกต้องของการบริหารจัดการน้ำมีมายาวนาน ฉะนั้น รัฐจึงต้องแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ และการดำเนินการต้องทำร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ทรัพยากรน้ำกำลังจะขาดแคนในอนาคต ประชาชนจึงต้องเรียนรู้และคำนึงถึงคุณค่าของน้ำ ทั้งทางด้านการอุปโภคบริโภค รวมถึงช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพราะป่าไม้มีความเชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำโดยตรง การรักษาป่าไม้เท่ากับรักษาน้ำ ตามแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “ถ้าเธอเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า” เพราะน้ำคือชีวิต เป็นต้นกำเนิดของทุกชีวิต ทุกคนต้องให้คุณค่ากับน้ำ และทุกคนจะต้องปรับตัวเรียนรู้เพื่อพัฒนาร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้และสนับสนุนงบประมาณ แต่การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยความจริงใจเละความเชื่อใจระหว่างประชาชนกับรัฐ เพื่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนอย่างยั้งยืน อีกทั้ง ที่ผ่านมาปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ดีพอ รัฐบาลจึงทำการบูรณาการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้อง สร้างความเชื่อมโยงเส้นทางชลประทานในทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ร่วมมือทำงานร่วมกันอย่างเป็นประชารัฐ ต้องจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด จัดระเบียบอย่างเป็นขั้นตอน นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำปัญหามาคิดวิเคราะห์ มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ และต้องติดตามผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ได้สั่งให้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น ด้านการประปา มอบหมายสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินงานศึกษาข้อมูลพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อให้ประเทศมีแหล่งกับเก็บน้ำเป็นของตัวเองภายในปี 2560 อีกทั้งในเรื่องการปรับปรุงเขื่อนพื้นที่กักเก็บน้ำ ได้มอบหมายให้ดำเนินการทำนุบำรุงเขื่อนกักเก็บน้ำเสริมสร้างความแข็งแรงและทนทาน พร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งหมดนี้ รัฐดำเนินการในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำเพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างความมั่นคงของประเทศในทุก ๆ ด้าน ดำเนินการการปฎิรูปประเทศ ตามแผนปฏิรูปประเทศ “คิดใหม่ ทำใหม่” ตามกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี เพื่อความมั่นคง มั่งคัง และยังยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกคนต้องก็ต้องทำร่วมกันเป็นประรัฐ ประชาชนต้องเปิดใจยอมรับการปรับเปลี่ยนตัวเอง รวมถึงรัฐบาลก็ต้องเรียนรู้ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของประเทศไทย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีฝากถึงข้าราชการไทยว่า ต้องเข้าใจประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะข้าราชการในพื้นที่ที่ต้องดูแลประชาชน ให้ปรับเปลี่ยนความคิด ต้องมีการเรียนรู้ ส่งเสริมสร้างการศึกษาวิจัยและต้องพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพที่ดีประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง และทุกคนต้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันใช้หัวใจในการทำงาน นายกรัฐมนตรีเองนั้น ก็ทำงานด้วยหัวใจเช่นกัน การทำงานต่าง ๆ ที่ผ่านมานี้ ได้ทำงานด้วยหัวใจ คิดที่จะทำเพื่อประชาชนทุกคนในประเทศไทย
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำ และความคืบหน้าโครงการตามความต้องการของกลุ่มเกษตรกร 7 กลุ่ม ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จากการลงพื้นที่ไปตรวจราชการ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สหกรณ์การเกษตรพิมาย อำเภอพิมาย รวมถึงนิทรรศการโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน (ตำบลละ 5 ล้าน) และนิทรรศการกิจกรรมป่ากับน้ำ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
------------------------------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th