โฆษกฯ เผย รัฐบาลมุ่งสร้างความเข้มแข็งประชาชนผ่าน บ.ประชารัฐรักสามัคคีฯ ยันไม่ใช่เปิดช่องให้นายทุนฮุบกิจการ ชี้กำหนดสัดส่วนชัดเจน ประสานพลังรัฐ เอกชน ประชาชน วิชาการ และประชาสังคม
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สังคมเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่านายทุนจะเข้ามาฮุบกิจการของประชาชนจากการตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า รัฐบาลอยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้าง มองการดำเนินงานโครงการนี้ในหลาย ๆ มุม โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของชาติและการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในระยะยาว ไม่ใช่มองเพียงว่า เมื่อมีนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
“แนวคิดในการให้บริษัทใหญ่เข้ามาร่วมดำเนินการ เปรียบเสมือนการส่งเสริมให้ผู้ที่แข็งแรงมีโอกาสช่วยเหลือดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า เมื่อผู้ที่อ่อนแอสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ทั้งหมดก็จะเดินหน้าไปพร้อมกันได้
บริษัทประชารัฐรักสามัคคีฯ ในระยะแรกเป็นการนำ 76 จังหวัดมาถือหุ้นใหญ่ 76% ส่วนอีก 24% เป็นการถือหุ้นของบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น ทรู เอไอเอส บุญรอด ไทยเบฟ สหพัฒน์ กลุ่มมิตรผล ฯลฯ โดยการถือหุ้นของกรรมการเหล่านี้ เป็นเงินสนับสนุน จะไม่มีผลตอบแทนหรือเงินปันผลใด ๆ ส่วนในระยะต่อไปบริษัทนี้จะมีสัดส่วนของกรรมการที่มาจาก 5 กลุ่ม คือ ภาครัฐ เอกชน ประชาชน วิชาการ ประชาสังคม สัดส่วนละ 20 %”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคีฯ เป็นบริษัทโฮลดิ้งหรือบริษัทกลางที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในชุมชนทั้งด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยว เพื่อให้บริษัทในระดับจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เพชรบุรี ขับเคลื่อนไปได้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ของ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ
“คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ (Public - Private Steering Committee) เป็นการผลึกกำลังกันของทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลับมาโดดเด่นเหมือนในอดีต ซึ่งแต่ละคณะจะกำหนดมาตรการที่สามารถเห็นผลได้รวดเร็วภายใน 6 -12 เดือน (Quick-win) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th