นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2559 ระบุรัฐบาลมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยมองถึงอนาคตและการบริหารจัดการพลังงานของประเทศที่มีอยู่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (30 พ.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม กพช. นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและรับทราบในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยมองถึงอนาคตข้างหน้าและการบริหารจัดการพลังงานของประเทศที่มีอยู่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหากมีช่องทางในการที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ๆ คงต้องให้เวลาในการปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องและวิธีการดำเนินการบริหารจัดการ ตลอดจนการพิจารณาถึงความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องของการลงทุนต่าง ๆ ด้วย
พร้อมกันนี้ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและโฆษกกระทรวงพลังงาน และนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลทำให้ตลาด LNG มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ และราคา Spot LNG อยู่ในระดับต่ำมาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการชะลอตัว ส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้ LNG ในปี 2559 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558-2579 (Gas Plan 2015) จากประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี ลดลงอยู่ที่ 2.7-3.1 ล้านตันต่อปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงเห็นควรให้ ปตท. เจรจาทบทวนสัญญา LNG SPA กับบริษัท Shell และ BP ใหม่ เพื่อให้สะท้อนกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่ง ปตท. ได้ดำเนินการและรายงานความก้าวหน้าการเจรจา โดยได้เลื่อนกำหนดการส่งมอบ LNG ของสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ออกไป จากเดิมปี 2559 เป็นปี 2560 และอยู่ระหว่างเจรจาปรับลดราคา LNG ให้สะท้อนราคาตลาด LNG มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากการปรับแก้สูตรราคาและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในร่างสัญญา LNG SPA แล้วเสร็จ ปตท. จะรายงานกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการลงนามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อีกครั้ง
พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง (LNG) ทั้งนี้ จากการประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ในปี 2579 จะอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน PDP 2015 กระทรวงพลังงานจึงได้มีการปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มเป็น 5,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ แหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) และที่นำเข้าจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมา จะมีปริมาณลดลงในอนาคต จึงอาจจำเป็นต้องมีการนำเข้าในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติของประเทศมีความพร้อมสำหรับรองรับความต้องการใช้และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ดังนี้
1) โครงการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของ Map Ta Phut LNG Terminal เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านตันต่อปี วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
2) โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี วงเงินงบประมาณ 36,800 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษา โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบน สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ พระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยให้นำกลับมาเสนอต่อ กบง. และ กพช. พิจารณาภายใน 3.5 เดือน
อีกทั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาการปรับปรุงแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่กำลังจะหมดอายุสัญญา โดยกระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560–2568 เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ SPP มีความเสี่ยงในการดำเนินการเพิ่มขึ้น และ SPP ยังมีความจำเป็นในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ประกอบกับข้อจำกัดทางเทคนิคของโรงไฟฟ้าที่ต้องผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ/ความเย็น ทำให้โรงไฟฟ้าต้องมีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งจึงจะสามารถรักษาเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้ ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560–2568 ดังนี้
1) กลุ่มที่ 1 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560–2561 (ต่ออายุสัญญา) ให้มีระยะเวลาสัญญา 3 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 MW และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า (ณ ราคาก๊าซ 263 บาท/MMBTU) ในอัตรา 2.3753 บาท/kWh
2) กลุ่มที่ 2 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562–2568 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) ให้มีระยะเวลาสัญญา 25 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 30 MW และไม่เกินร้อยละ 30 ของกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมไอน้ำ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตรา 2.8186 บาท/kWh (ที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 263 บาท/ล้านบีทียู) ทั้งนี้ โครงการ SPP-Cogeneration ที่ได้รับสิทธิการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม
โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตามแนวทางฯ ข้างต้น รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงรูปแบบสัญญา Firm ของ SPP-Cogeneration กลุ่มนี้ ให้สามารถลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การขอลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบล่วงหน้า พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ IPP และ SPP ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำรองให้มีความเหมาะสม รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการศึกษา SPP-Power Pool เพื่อรองรับกลไกการประมูลรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราส่วนลดพิเศษในอนาคต โดยให้รีบกลับมานำเสนอ กบง. และ กพช. ตามลำดับต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มในกิจการพลังงาน จากข้อเสนอเชิงนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ที่ขอให้ กฟผ. ใช้น้ำมันปาล์มดิบทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เป็นเดือนละ 10,000 ตัน โดยดำเนินการ 8 เดือนติดต่อกัน ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้า โดยเห็นชอบในหลักการสำหรับการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ในปริมาณการรับซื้อที่เหมาะสมเป็นคราวๆ ไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยพิจารณาจากปริมาณสต๊อคและราคาน้ำมันปาล์มดิบประกอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและเป็นภาระต่อประชาชน พร้อมมอบหมายให้ กบง. เป็นผู้พิจารณาการรับซื้อ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่า Ft และให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซล เป็น 14 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) และเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์ชนิดต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยให้ดำเนินการผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพแล้วในเชิงพาณิชย์ พร้อมนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 ในรถของหน่วยงานราชการ/ทหาร/เอกชนก่อนผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนพฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผน AEDP 2015 โดยให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซล เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล และรายงานให้ กบง. ทราบเป็นระยะ
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ข้อมูล: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th