วันนี้ ( 31 พ.ค.59) เวลา 15.10 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมด้วยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) และประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ กพข. ได้แถลงถึงผลสำรวจการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA เปิดเผยว่า จากภาพรวมในปีที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ได้วางไว้ มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ มาร่วมกันขับเคลื่อน รวมทั้งได้มีการสื่อสารทำความเข้าใจถึงบทบาทของทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความร่วมมือและส่งผลให้อันดับความสามารถของประเทศไทยดีขึ้น 2 อันดับมาเป็นอันดับที่ 28 ในปีนี้
ทั้งนี้ ในปี 2559 ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ ซึ่งคะแนนรวมในปีนี้เท่ากับ 74.681 เปรียบเทียบกับ 69.786 ในปี 2558 และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 30 ในปี 2558 เป็นอันดับที่ 28 ในปี 2559 ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอันดับดีขึ้นในขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีอันดับต่ำลง 1 – 6 อันดับ
ด้าน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการจัดอันดับดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้ผลการจัดอันดับในด้านนี้อยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาทุกประเทศต่างตกอยู่ในภาวะลำบากจากเศรษฐกิจโลก แต่มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเอื้ออำนวยการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับความเข้มแข็งของภาคเอกชนไทย ทำให้ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ (domestic economy) ที่ดีขึ้นถึง 9 อันดับ ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐได้มีมาตรการปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลได้มีการเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเริ่มเห็นผล
สำหรับการจัดอันดับฯ ของ IMD มีการพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาค (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรากฏว่า ปัจจัยที่ทำให้ไทยมีอันดับที่ดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 61 ประเทศเท่ากับเมื่อปี 2558 ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้นถึง 4 อันดับ จากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 23 ตรงข้ามกับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอันดับลดลง 1 และ 3 อันดับเป็นอันดับที่ 23 และ 49 ตามลำดับในปี 2559
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th