นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุม G77 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการประกอบธุรกิจ ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาของสหประชาชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday June 2, 2016 15:55 —สำนักโฆษก

วันนี้ (1 มิ.ย. 59) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม SEP in Business : A G-77 Forum on the Implementation of Sustainable Development Goals" สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และกล่าวถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับทุกประเทศผ่านหุ้นส่วนความร่วมมือในทุกระดับ เพื่อทำให้ SDGs เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ไทยได้กำหนดหัวข้อวาระในการทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 “จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ: ความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (From Vision to Action: Inclusive Partnership for Sustainable Development)”นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ในการจะบรรลุ SDGs ควรเร่งเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือทั้งภายในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก จากทุกภาคส่วน แม้รัฐบาลจะเป็นแกนสำคัญ แต่การพัฒนาต้องเริ่มจากที่บ้าน จากล่างสู่บน โดยต้องคำนึงว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ทั้งนี้ภาคเอกชนไทยมีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยการลงทุนของภาคเอกชนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีสัดส่วนสูง อีกทั้งการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมีผลโดยตรงต่อชีวิตของประชาชนในหลายระดับ และในวงกว้าง ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ไทยประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ส่งผลกระทบต่ประชาชนนับล้านคน และต่อห่วงโซ่อุปทาน ภาคเอกชนจึงควรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก โดยเฉพาะการสร้างงานที่มีคุณค่า การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และการดำเนินงานเพื่อต่อต้านการทุจริต ไม่ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวนอกจากนี้ บทบาทของภาครัฐยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท แต่ยังต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยและแรงจูงใจสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกว่า 40 ปีที่ไทยนำแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEP (Sufficient Economy Philosophy) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยในปีนี้ยังครบรอบ 10 ปี ที่เลขาธิการสหประชาชาติ (นายโคฟี อันนัน) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2549 ด้วย นอกจากนี้ไทยยังได้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย โดยเน้นการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง มีความสมดุล มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกในทุกระดับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั้นสามารถนำมาเป็นแนวทางการดำเนินงานและกรอบการตัดสินใจสำหรับภาคธุรกิจ ทั้งผู้ประกอบการ SME และภาคเอกชนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เช่น หลักความพอประมาณ คือการผลิตตามศักยภาพ ตามเป้าหมายลูกค้า และขยายกิจการอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลักความมีเหตุผล ความเข้าใจในธุรกิจของตน รู้ตน รู้ลูกค้า รู้ตลาด รู้คู่แข่ง หลักการมีภูมิคุ้มกัน เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เงื่อนไขความรู้ เช่น การทำในสิ่งที่ตนถนัดบนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญ มีทำการศึกษาและวิจัย เงื่อนไขคุณธรรม คือความจริงใจและการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สามารถส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หลายข้อ โดยบริษัทชั้นนำของไทยหลายบริษัทได้นำไปใช้และประสบผลสำเร็จ เช่นนี้ SEP จึงไม่ขัดกับหลักการแสวงกำไรของภาคธุรกิจ และไม่ปฏิเสธการเป็นหนี้หรือการกู้ยืมของภาคธุรกิจ เพียงแต่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงได้ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การนำหลัก SEP ไปใช้ในภาคธุรกิจจะช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความความยั่งยืน แข็งแกร่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทได้ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก CSR สู่แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Corporate Shared Value: CSV) โดยบูรณาการทัศนคติด้านความยั่งยืนเข้าไปสู่การวางแผนของบริษัทตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ บนพื้นฐานของความสมดุล พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเสมอภาค ส่งเสริมสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี และยกระดับคุณภาพชิวิต โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดโดยภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รัฐบาลได้นำหลัก SEP มาใช้ในการปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” เพื่อให้หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” โดยใช้พลังความเข้มแข็งจากภายใน และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประชาชน เอกชน นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้พื้นฐานหลักความมีเหตุผลของ SEP โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ