ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2016 16:23 —สำนักโฆษก

วันนี้ (4มิ.ย.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า การประชุม คพน.วันนี้เป็นการเร่งรัดงานที่ยังติดค้างอยู่ให้เป็นผลสำเร็จอออกมาเป็นรูปธรรมและผลสัมฤทธิ์ให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผลผลิตด้านเกษตร เช่น ยางพารา และสินค้าที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยทั้งหมด โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการประชุมฯ ถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายเรื่องโดยเป็นการปฏิรูประบบการวิจัยและพัฒนาของประเทศซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงหลายในส่วนไม่ใช่เฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงทุกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ เช่น เรื่องกฎหมาย การศึกษา ความร่วมมือ พ.ร.บ.ร่วมทุนต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งอาจใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ พอสมควร อย่างไรก็ตามวันนี้ได้มีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยไปแล้วหลายผลงาน ซึ่งผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อจะนำไปสู่การผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในหน่วยงานของภาครัฐและภายในประเทศลดการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณและลดการขาดดุลของประเทศจากการนำเข้าได้

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2559 มีรายการยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย 146 ผลงาน โดยอยู่ระหว่างจัดส่งผลงาน 23 ผลงาน กำลังจัดทำราคากลาง 12 ผลงาน และประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยโดยสำนักงบประมาณแล้ว 26 ผลงาน ส่วนความก้าวหน้าของบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2559 มีหน่วยงานภาครัฐและนักประดิษฐ์ทั่วประเทศยื่นขอขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย รวม 426 ผลงาน แบ่งเป็น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 148 ผลงาน เกษตรกรรม 60 ผลงาน ความมั่นคง 11 ผลงาน คมนาคม 9 ผลงาน และด้านอื่น ๆ 198 ผลงาน ซึ่งขณะนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ และเสนขอขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยต่อสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว รวม 130 ผลงาน ขณะนี้ วช. ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยคาดว่าจะสามารถเปิดรองรับการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยจากทั่วประเทศ ประมาณกรกฎาคม – สิงหาคม 2559

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนตั้งแต่จัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งมีผลงานที่สำเร็จแล้วสำคัญใน 5 เรื่อง ดังนี้ 1) การสร้างตลาดนวัตกรรมภาครัฐ ได้แก่ การจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย และมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานภาครัฐที่จัดซื้อจัดจ้างสามารถใช้วิธีกรณีพิเศษได้ทันที การจัดทำบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ฐานข้อมูลความต้องการนวัตกรรมไทยของภาครัฐ และการจัดมหกรรมนวัตกรรมทั่วประเทศ 2) มาตรการภาษี ได้แก่ เพิ่มการยกเว้นภาษีแก่เอกชนที่มีค่าใช้จ่ายวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเป็น 3 เท่า จากเดิม 2 เท่า ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นผ่านวิธีการ Self-declaration และยกเว้นภาษีเงินปันผลและกำไรจากการโอนหุ้นแก่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่ใช้เทคโนโลยี 3) การช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม โดยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร 4) การช่วยเหลือ SME และ Start-up ไดแก่ การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) การส่งเสริม Start-up และการเพิ่มความช่วยเหลือแก่ SME ผ่านโครงการ ITAP และ 5) การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ การจัดทำ Roadmap ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย การจัดทำแผนมุ่งเป้าเพื่อการวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมไทย การผลักดันให้ ขสมก.ปรับการจัดซื้อจัดจ้างจากการใช้รถ NGV เป็น รถโดยสารไฟฟ้า การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า และการจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อภาคเอกชนที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

พร้อมทั้ง ที่ประชุมเร่งรัดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งรัดการสร้าง ecosystem ที่สนับสนุนและส่งเสริม Start-up และเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และมอบหมายกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบีโอไอ ร่วมกันผลักดันมาตรการกระตุ้น 3 เรื่อง คือ 1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ 2) เร่งออกกฎหมายการร่วมลงทุนในรูปแบบของ Matching Fund และ 3) ให้ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุน สามารถหักภาษีค่าใช้จ่ายวิจัยได้ 3 เท่าผ่านระบบ Fast Track เพื่อส่งเสริมและรองรับการเข้ามาลงทุนของภาคเอกชนใน Food Innopolis

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ (Thailand Offset Policy) โดยอาศัยโครงการ Mega Project พร้อมให้กำหนดเงื่อนไขการพัฒนาคน การวิจัย และสร้างอุตสาหกรรมไทยให้ผลิตเองได้ในอนาคต และมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) จัดทำรายละเอียดของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ (Offset Agreement)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ