วันนี้ (เสาร์ 16 กรกฎาคม 2559 ) ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงสำหรับการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) หัวข้อ “การส่งเสริมสามเสาหลักของอาเซม”(Enhancing the Three Pillars of ASEM) ในการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ 11 เสนอหลักการ 3 M เน้น “ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน”เป็นแนวทางการดำเนินงานระหว่างเอเชีย-ยุโรป ทั้งนี้ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โลกปัจจุบันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็ว ทำให้เอเชียและยุโรปใกล้ชิดกันมากขึ้นขณะเดียวกัน ปัญหาต่างๆ มีแนวโน้มที่จะส่งผลในมิติข้ามชาติมากยิ่งขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงเผชิญกับทั้งโอกาสและความท้าทายในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เราจึงต่างต้องร่วมมือกัน เพราะโลกทุกวันนี้มิใช่ “หนึ่งประเทศ หนึ่งจุดหมาย” อีกต่อไป แต่เป็น “หนึ่งโลก หนึ่งจุดหมาย”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในยุโรปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงประชามติของสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียู เชื่อว่า สหราชอาณาจักรและอียูจะสามารถปรับตัวเพื่อให้ผ่านความท้าทายนี้ไปได้ และยังคงมีบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อไปในประชาคมโลก โดยจะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันในกรอบความร่วมมือต่าง ๆรวมทั้งอาเซมต่อไป ซึ่งทั้งสองภูมิภาคจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริง เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค ที่สร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
สำหรับเอเชียนั้น ความขัดแย้งจากพื้นที่บางส่วนยังคงเป็นความท้าทาย ต่อความมั่นคงทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเราไม่ควรขยายความขัดแย้ง แต่ควรหาหนทาง อย่างสร้างสรรค์ ในการนำพื้นที่แห่งความขัดแย้งสู่พื้นที่แห่งความร่วมมือประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคจึงพึงร่วมมือกันโดยยึดหลัก 3 M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทุกประเทศจะต้องเคารพกฎกติการะหว่างประเทศเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญอีก 2 ประการที่ทั้งเอเชียและยุโรปกำลังเผชิญอยู่และมีความเชื่อมโยงในทั้งมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ ความท้าทายประการแรกคือ ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้งสองภูมิภาคต่างเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำให้เกิดวิกฤตด้านผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อ ประเทศไทยเองก็ประสบกับปัญหานี้ แม้ว่าจะอยู่ในบริบทที่ต่างจากของยุโรป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้โดยได้จัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติในมหาสมุทรอินเดียสองครั้ง ซึ่งต่างยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ส่งผลให้ตัวเลขการโยกย้ายถิ่นฐานในมหาสมุทรอินเดียลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กับยุโรป
ความท้าทายประการที่สอง คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน และความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค เป็นความท้าทายที่กระทบเอเชียและยุโรป รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยกำหนดเป็นนโยบาย มาตรการและกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งแรงงานต่างด้าว เด็ก หรือสตรี ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการประมงที่ผิดกฎหมายของไทย รัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงอย่างเข้มงวด เพื่อป้องปราบการกระทำผิด ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซม เพื่อให้การขจัดปัญหาการค้ามนุษย์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีกล่าวเล่าถึงประสบการณ์ของไทยในการแก้ไขปัญหาว่า ปัญหาทั้งสองดัง เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการแก้ไข การแก้ไขปัญหาต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศทั้ง ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทางโดยไม่ผลักภาระให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ควรแก้ไขที่ต้นเหตุโดยช่วยพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความอยุติธรรม บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องคำนึงถึงระดับความพร้อม ของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาด้วย โดยสนับสนุนได้ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th