นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ยืนยันรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2016 13:28 —สำนักโฆษก

วันนี้ (13 มิ.ย.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่าง ๆ ให้เห็นถึงความพยายามและมุ่งมั่นของรัฐในการผลักดันให้ระบบราชการเกิดความสะดวก รวมทั้งเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานต่าง ๆ นำเสนอและประชาสัมพันธ์ผลการปรับปรุงบริการของหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศ ตามตัวชี้วัด 10 ด้านของธนาคารโลก โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวว่า จากรายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นรายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานหรือการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐในการอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศนั้น ๆ ล่าสุดรายงาน Doing Business 2016 ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 49 จาก 189 ประเทศ โดย สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอรายงานผลการจัดอันดับดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงการทำงานเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนเกิดความสะดวกและลดอุปสรรคในการติดต่อขอรับบริการจากรัฐ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงบริการของรัฐตามรายงาน Doing Business ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมเพื่อชี้แจงผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกันถึงกระบวนการและวิธีการวัดผลของธนาคารโลก การจัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าในการปรับปรุงบริการให้มีประสิทธิภาพและภาคเอกชนผู้รับบริการ ตลอดจนการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่ได้ดำเนินการเป็นประจำทุกเดือน

สำหรับการนำเสนอผลการปรับปรุงบริการของหน่วยงานภาครัฐที่เอื้อต่อการติดต่อขอรับบริการของผู้ประกอบธุรกิจจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจจนเลิกธุรกิจ ตามตัวชี้วัด 10 ด้าน ของธนาคารโลก ได้แก่ 1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5) ด้านการได้รับสินเชื่อ 6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย 7) ด้านการชำระภาษี 8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ 9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ10) ด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย รวมไปถึงการปรับปรุงบริการในด้านที่เอกชนให้ความสำคัญ ได้แก่ การขออนุญาตอาหารและยา การส่งเสริมการลงทุน การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการขออนุญาตทำงานของนักธุรกิจต่างชาติด้วย

ส่วนการจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีให้หน่วยงานาภครัฐที่เกี่ยวข้องมานำเสนอความก้าวหน้าผลการปรับปรุงเพื่อให้ภาคเอกชน และสาธารณชนได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐให้เอื้อต่อการลงทุนซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดีต่อการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการในต่างประเทศ

จากนั้น หน่วยงานภาครัฐได้นำเสนอผลการพัฒนางานบริการเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1) การเริ่มต้นธุรกิจ ประกอบด้วยงานบริการ 3 ด้าน คือ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า กลุ่มที่ 2) การดำเนินธุรกิจ (1) ประกอบด้วย งานบริการ 3 ด้าน คือ การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ และด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย กลุ่มที่ 3) การดำเนินธุรกิจ (2) ประกอบด้วย งานบริการ 2 ด้าน คือ ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มที่ 4) การเลิกธุรกิจ ประกอบด้วย งานบริการ 2 ด้าน คือ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย และกลุ่มที่ 5) อื่น ๆ ประกอบด้วย ด้าน Visa และ Work permit ด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านอาหารและยา

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้ข้อเสนอแนะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงข้อมูล แผนงาน โครงการ และงบประมาณร่วมกันทั้งภายในหน่วยงานของกระทรวง และระหว่างกระทรวงต่อกระทรวง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดและมีประสิทธิภาพเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งให้มีการสร้างการรับรู้และแรงจูงใจให้สาธารณชนเข้าใจรับทราบถึงแนวทางและผลการดำเนินงานต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐตามนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติหน้าที่และดำเนินงานอยู่บนพื้นบนหลักธรรมาภิบาลคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงศึกษาธิการดูแลในเรื่องการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ฯลฯ ให้มีความพร้อมรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ พร้อมกล่าวยืนยันรัฐบาลต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลกับการพัฒนาประเทศ และการจัดหาที่ทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากว่า นอกจากข้าราชการ และผู้กรอกแบบสอบถาม Doing Business ของธนาคารโลกแล้ว ประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจและเอกชน ต้องมีส่วนรับรู้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงการการดำเนินการในเรื่องใดไปแล้ว เพื่อให้สามารถตอบแบบสอบถาม Doing Business ของธนาคารโลกได้ตรงกัน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานการประชุมเรื่อง “การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพงานบริการของรัฐที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลและสามารถยกระดับขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย ในวันนี้ ทั้งนี้ รายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก – ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือ Ease of Doing Business จัดทำโดยธนาคารโลกและประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 49 จาก 189 ประเทศ นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีการดำเนินการปฏิรูปครอบคลุมในทุกมิติทั้ง ประชารัฐ การค้าการลงทุนต่างประเทศ การแก้ไขกฎระเบียบบีโอไอ การปรับแก้ไขกฎหมาย สาธารณูปโภคพื้นฐาน การพาณิชย์ และการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ฯลฯ รวมทั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติทั้งการยกระดับภาคเกษตร รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ มีการปรับปรุงการบริการของรัฐทั้งเรื่องขั้นตอน กระบวนการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนต่างๆในสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องได้รับความสะดวก รวดเร็วในการประกอบธุรกิจ

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนประเทศโดยดำเนินการให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีรายได้น้อยเกิดความสมดุลระหว่างสิ่งที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีราคาเพิ่มสูงขึ้นให้ได้ภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงและยุคดิจิทัล เช่น การดูแลรัฐสวัสดิการให้มากขึ้นซึ่งมาจากการจัดเก็บภาษีของรัฐที่เกิดจากการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ หากไม่มีการเตรียมการในเรื่องต่าง ๆ ไว้ประเทศก็ไม่สามารถที่จะเข้าสู่ประชาธิปไตยที่เป็นสากล ซึ่งตรงนี้ต้องมีการจัดทำนโยบายชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะเดียวกันการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ต้องลดอุปสรรคและใช้เวลาให้ได้น้อยที่สุด ทุกคนมีความพึงพอใจ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มรวมไปถึงผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มอาชีพอิสระด้วย เช่น พ่อค้าแม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ประกอบอาชีพเย็บผ้าที่บ้าน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณความร่วมมือภาคเอกชนในการติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงงานของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำที่นำไปสู่การปรับปรุงบริการของรัฐให้ดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาประเทศต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มากขึ้น เพราะถ้าประเทศมีการพัฒนาได้ดี ประชาชนก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ส่งผลให้ภาคธุรกิจเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต่อไปในอนาคตภาคเอกชนต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกับภาครัฐ โดยรัฐจะเป็นผู้ริเริ่มและเจรจา ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามการดำเนินการในการพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งในทุกด้าน โดยเฉพาะการทำให้ประเทศมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน รัฐบาลได้กำหนดกรอบการดำเนินการไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560- 2579) ที่ต้องการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ยุคของการเจริญเติบโตของประเทศอย่างเข้มแข็งด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการที่ประเทศไทยจะไปสู่ Thailand 4.0 ประชาชนทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนระดับฐานรากต้องแข็งแรง โดยขณะนี้การขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวดีขึ้นเป็นลำดับโดยมีการจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นแล้วในหลายจังหวัดภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในรูปแบบกลไกพลังประชารัฐ พร้อมกล่าวยืนยันถึงสิ่งที่ดำเนินการในวันนี้ว่าเป็นการดำเนินการไว้สำหรับอนาคตของประเทศไทยและคนรุ่นต่อไปข้างหน้า รวมทั้งขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันเฝ้าระวังภัยที่จะเกิดจากภายนอกประเทศ เช่น ภัยจากการบิดเบือนเรื่องประชาธิปไตย การบิดเบือนเรื่องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในเรื่องความมั่นคงและความเชื่อมั่นของประเทศ

-------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ