นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดบีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 29 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 101,000 ล้านบาท กลุ่มเกษตรและผลิตผลจากการเกษตรมียอดการลงทุนสูง คาดกระตุ้นการใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี เลขาธิการบีโอไอเผยมั่นใจการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 4.5 แสนล้านบาท
วันนี้ (15 มิ.ย.59) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 2/2559 ภายหลังการประชุม นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เผยถึงผลการประชุม ว่า การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 มีตัวเลขส่งเสริมการลงทุนที่ค่อนข้างสูงมาก โดยในขั้นการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 5 เดือนแรกของปีนี้ มีเม็ดเงินการลงทุนรวม 229,000 ล้านบาท รวม 504 โครงการ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถือเป็นเม็ดเงินการลงทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า และจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบเป็นรายเดือนกับปี 2558 จะพบว่ามีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุกเดือน เนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จึงทำให้ตัวเลขค่อนข้างสูงมาก ทั้งนี้ ถ้าดูตามแหล่งเงินที่มาของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ปรากฏว่าในช่วง 5 เดือนแรกนี้ อันดับ 1. ฮ่องกงแต่ผู้ลงทุนมาจากจีน 2. ญี่ปุ่น 3. เนเธอร์แลนด์ 4. จีน 5. เกาหลีใต้ แต่หากดูตัวเลขทั้งหมด เม็ดเงินลงทุนจากประเทศแม่จริง ๆ อันดับ 1 ญี่ปุ่น อันดับ 2 จีน ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ในกลุ่มของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่เป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ เป็นเม็ดเงินโดยรวมประมาณ 91,870 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในครึ่งแรกของปี 2559 รวม 1 แสนล้านบาท ดังนั้นเชื่อมั่นว่าตัวกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับครึ่งปีแรกจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เหลือในปีนี้ คือเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เรื่องการขนส่งทางเรือ กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับเป้าหมายรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตลอดปียังอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท
“ จากที่บีโอไอได้สำรวจและประเมินโครงการที่ได้รับอนุมัติไปนั้น เม็ดเงินลงทุนจริง 3 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 107,000 ล้านบาท และจากที่สำรวจโครงการที่ได้รับการส่งเสริมไปก่อนหน้า ได้ประเมินแล้วว่าเงินลงทุนจริงจะเกิดขึ้นในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 650,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่จะเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจริง โดยบีโอไอจะได้ติดตามโครงการอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง หากพบปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากหน่วยงานใด ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดบีไอเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุนต่อไป” นางหิรัญญากล่าว
พร้อมกันนี้ นางหิรัญญา กล่าวว่า บีโอไอได้เสนอเรื่องการส่งเสริมการลงทุนให้คนไทยไปลงทุนที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่บีโอไอได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศในปัจจุบันมีทั้งหมด 14 แห่ง ทำหน้าที่หลักในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ยังไม่มีสำนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลนักลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอจึงได้เสนอขอเปิดสำนักงานที่ประเทศ CLMV ใน 2 แห่งแรกคือที่ย่างกุ้ง เมียนมา กับเวียดนาม ที่กำลังพิจารณาความเหมาะสมว่าจะตั้งสำนักงานที่ฮานอยหรือโอจิมินห์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอก็ได้เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการในระยะแรก ปีงบประมาณ 2560 ส่วนในปีงบประมาณ 2561 บีโอไอเสนอเปิดสำนักงานที่กรุงจาร์กาต้า อินโดนีเซีย ซึ่งบอร์ดบีโอไอก็ให้ความเห็นชอบในหลักการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุนรวม 101,581 ล้านบาท ประกอบด้วยกลุ่มเกษตร และผลิตผลจากการเกษตรเงินลงทุนรวม 32,145 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 32,611 ล้านบาทต่อปี
1. บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเนื้อสุกรชำแหละ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท กำลังผลิต 46,430 ตันต่อปีตั้งอยู่ที่ จังหวัดปราจีนบุรี โดยจะเป็นการลงทุนสร้างโรงงานชำแหละสุกรแห่งแรกของบริษัทในภูมิภาค ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สุกรขุน และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่ากว่า 3,575 ล้านบาทต่อปี
5. บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตเครื่องปรุงรสชนิดผงหรือชนิดก้อน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,085 ล้านบาท กำลังผลิต 40,000 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 2,013 ล้านบาทต่อปี เช่น เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล ผงชูรส และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
6. บริษัท บี.ฟู้ดส์โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนขยายกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,910 ล้านบาท กำลังผลิตปีละ 24,000 ตัน ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อไก่ แป้งผสมอาหาร สิ่งปรุงแต่งอาหาร น้ำมันพืช ถ่านไม้ และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า 2,395ล้านบาทต่อปี
7. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง เช่น เนื้อหมูปรุงสุก ขาหมูพะโล้ และหมูย่าง เป็นต้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,510 ล้านบาท กำลังผลิต 13,070 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโครงการจะมีการลงทุนใหม่ทั้งในส่วนการผลิต ก่อสร้างคลังจัดเก็บสินค้าและระบบจัดเก็บทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงเครื่องกลหุ่นยนต์ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยในการจัดเก็บและลำเลียงสินค้า มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ ส่วนผสมอาหารและสิ่งปรุงแต่ง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าปีละ 2,044 ล้านบาท
โครงการที่ 8 -11.บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตน้ำมันกรีนดีเซล และเมล็ดในปาล์มอบแห้ง จำนวน 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (เงินลงทุนโครงการละ 1,500 ล้านบาท) กำลังการผลิตน้ำมันกรีนดีเซล รวม 264,960 ตันต่อปี และเมล็ดในปาล์มอบแห้ง รวม 115,200 ตันต่อปี โดย 2 โครงการ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร และอีก 2 โครงการ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตกรีนดีเซลที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์โดยตรง ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันกรีนดีเซลจะดีกว่าน้ำมันไบโอดีเซล เนื่องจากจะไม่มี Glycerol ที่ทำให้เกิดการอุดตัน และให้พลังงานต่อหน่วยสูงกว่า มีการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้นรวมทั้ง 4 โครงการ เช่น ผลปาล์มสด CLAY แป้งฟอกสี กรดฟอสฟอริก และโซดาไฟ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวม 9,680 ล้านบาท
12. MR.HUASHUN XIE ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยางยานพาหนะ ได้แก่ยางรถบรรทุก และรสบัส (TRUCK&BUS RADIAL TIRE) หรือTBR กำลังการผลิต1,200,000 เส้นต่อปีและยางออฟเดอะโรด (OFF THE ROAD TIRE) หรือ OTR ซึ่งเป็นยางขนาดใหญ่ใช้กับธุรกิจก่อสร้างหรือเหมือง จำนวน 30,000 เส้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,570 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง โดยเป็นโครงการร่วมทุนของจีน-ไทย มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ยางธรรมชาติ มูลค่า 1,776 ล้านบาทต่อปี
กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เงินลงทุนรวม 8,488 ล้านบาท
13. บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ได้รับส่งเสริมลงทุนขยายกิจการผลิตก๊าซออกซิเจน ก๊าซไนโตรเจน กำลังผลิตปีละ 792,000 ตัน ออกซิเจนเหลว ไนโตรเจนเหลว และอาร์กอนเหลว กำลังผลิตปีละ 225,500 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,968 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง การผลิตจะใช้เทคโนโลยีการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมที่ทันสมัย กระบวนการกลั่นแยกอากาศโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
14. นายพรณรงค์ จิรา ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ กำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยกระดาษคราฟท์เป็นกระดาษที่ใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นหลัก สำหรับกระดาษพิมพ์เขียนจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับงานพิมพ์คุณภาพสูง มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อใยสั้น เศษกระดาษ และแป้ง เป็นต้น มูลค่ารวม 2,852.9 ล้านบาทต่อปี
15. นายชาญ เสนีย์นันท์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กำลังผลิต 120,000 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตสิ่งพิมพ์รายใหญ่ของไทยและผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อกระดาษ เศษกระดาษ และหินปูน เป็นต้น มูลค่ารวมประมาณ 4,100 ล้านบาทต่อปี
16. บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์แอนด์เปเปอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร (ชนิด BIODEGRADABLE) ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อย กำลังการผลิต 18,870 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการนี้เป็นนวัตกรรมสีเขียว เป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัตินอกจากกันน้ำ กันน้ำมัน และมีความยืดหยุ่นสูงแล้วยังสามารถเข้าเตาอบ และเตาไมโครเวฟได้ ไม่มีสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อกระดาษชานอ้อย สารเคมี และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า 459.4 ล้านบาทต่อปี
กลุ่มกิจการบริการ และสาธารณูปโภค เงินลงทุนรวม 47,378 ล้านบาท
17. บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 12 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำ (BLACK LIQUOR) ซึ่งเป็นกากที่เกิดขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ขนาดการผลิต 135 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 464 ตันต่อชั่วโมง และสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ (WHITE LIQUOR) จำนวน 250 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,160 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์
18. บริษัท สยามเพาเวอร์ โครงการ 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดการผลิต 117 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,650 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งตามโครงการจะเป็นการติดตั้งระบบหัวฉีดเผาไหม้ระบบพิเศษเพื่อลดอุณหภูมิการเผาไหม้ให้ต่ำกว่าระบบการเผาเชื้อเพลิงแบบธรรมดา ทำให้ลดการเกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน
19.บริษัท เบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดการผลิต 100 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,323.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี โดยโครงการจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์
20. บริษัทกัลฟ์ เอ็นอาร์วี 1 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
21. บริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
22. บริษัท กัลฟ์ เอ็นซี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,426 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
23. บริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) ขนาด 37 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 400 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยโครงการมีการใช้เทคโนโลยีกังหันไอน้ำกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น
24. บริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (กุฉินารายณ์) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย ชิ้นไม้สับ) ขนาด 45 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 270 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,780 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยโครงการจะใช้เทคโนโลยีการผลิตจากประเทศอินเดียและเยอรมนี
25. บริษัท ทุ่งบัว เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) ขนาดการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดยโครงการจะรับขยะจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม มีความต้องการขยะประมาณ 83,950 ตันต่อปี
26. บริษัท ดินสวย น้ำใส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไอน้ำ ซึ่งได้จากการนำน้ำกากส่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์มาใช้เป็นวัตถุดิบ กำลังการผลิต 60 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท
27. บริษัท พรีเชียส เนปจูน จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยเป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าเทกองต่าง ๆ เช่น สินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น ในพื้นที่แถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินลงทุนทั้งสิ้น 918 ล้านบาท
28. บริษัท พรีเชียสวีนัส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าเทกองต่าง ๆ เช่น สินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น ในพื้นที่แถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินลงทุนทั้งสิ้น 918 ล้านบาท
29. นายชัยภัทร เขมาภิรักษ์ ได้รับส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรม พื้นที่ 1,326ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,262.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการจะพัฒนาพื้นที่อำเภอบ้านบึง ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) นอกจากนี้จะพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco-Industrial Estate) โดยวางผังและออกแบบให้สมดุลระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ แม่พิมพ์ ไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น
--------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th