วันนี้ (16 มิถุนายน 2559) เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงนิวเดลี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางถึงยังท่าอากาศยานกองทัพอากาศปาลาม (Palam Airforce Station) กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย
ภายหลังการเดินทางถึงโรงแรมที่พัก เวลา 18.45 น. ณ ห้อง Board Room นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการพบหารือและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทย ณ กรุงนิวเดลี ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เมืองมุมไบ และเมืองเจนไน สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ เมืองมุมไบ และเมืองเจนไน
ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวทักทายและขอบคุณทีมประเทศไทยในอินเดีย ซึ่งทุกคนล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-อินเดีย ให้มีความก้าวหน้าและสานประโยชน์ของสองประเทศ ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดและความร่วมมือในด้านต่างๆให้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรีอยากให้หน่วยงานของไทยช่วยกันเชิญชวนและส่งเสริมให้อินเดียไปลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมทวายและเขตเศรษฐกิจพิเศษในสาขาที่อินเดียมีความเชี่ยวชาญ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยอยากให้อินเดีย คือ New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมไอที ซอฟแวร์ ยา เครื่องจักรและชิ้นส่วน ไบโอเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้ รัฐบาลพร้อมที่จะพิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีและส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เป็นรายๆ ไป เพื่อดึงดูดการลงทุนเหล่านี้ เข้ามาในประเทศไทยในช่วงนี้ เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันประชาสัมพันธ์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการลงทุน การค้า การท่องเที่ยว อย่างต่อเนื่อง รวมถึง เชิญชวนให้เขามาร่วมพัฒนาพร้อมกับเราในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ในขณะเดียวกัน เราต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้ามาลงทุนในอินเดียมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีโมดี ไม่ว่าจะเป็น make in India smart cities หรือ digital India
นอกจากนี้ ขอให้ข้าราชการแต่ละกระทรวงทำงานแบบบูรณาการ คิดแบบผู้ประกอบการ ภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ต้องแสวงหาจุดเชื่อมระหว่างไทย-อินเดีย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความเชื่อมั่นต่างตอบแทน เพื่อดึงดูดนักธุรกิจอินเดียเข้ามาค้าขายลงทุนกับไทยให้มากขึ้น รวมถึง ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว และประเทศต่างๆ ต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอินเดียอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมให้อินเดียสามารถใช้ไทยเป็นประตูไปสู่อาเซียนและกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของอินเดียที่จะใช้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียน ผ่านโครงการท่าเรือ/เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อเชื่อมโยงกับชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย และเส้นทางถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมา-อินเดีย เพื่อเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พร้อมสั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างท่าเรือที่ระนองเพื่อเชื่อมกับอินเดียทางทะเล
สำหรับการท่องเที่ยว ขอให้หน่วยงานต่างๆของไทยที่อินเดีย ช่วยกันสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันแบบสองทาง ตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ศาสนา สุขภาพ เชิงธรรมชาติ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจต่อการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ไม่ต้องการคะแนนนิยม และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และขอให้ข้าราชการมุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติที่แท้จริง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th