พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์พบหารือกับภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอินเดีย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารและผู้แทนของบริษัทชั้นนำ กว่า 50 ราย
วันนี้ (17 มิ.ย. 59) เวลา 10.35 น. ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรมที่พัก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์พบหารือกับภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอินเดีย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารและผู้แทนของบริษัทชั้นนำ กว่า 50 ราย อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (อินเดีย) บริษัท เดลต้าอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ ธนาคารกรุงไทย บริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท สายการบินบางกอก แอร์เวย์ เป็นต้น
ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณภาคเอกชนไทยที่เข้ามาขยายตลาดและลู่ทางการค้าการลงทุนในอินเดีย ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ โดยวันนี้ ต้องการทราบถึง การดำเนินธุรกิจของไทยในอินเดีย รวมทั้ง ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อที่รัฐบาลจะได้ช่วยหาแนวทางแก้ไข รวมทั้ง ช่วยส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ โดยนายกรัฐมนตรี ยินดีที่ทราบว่าภาคเอกชนไทยได้เข้ามาสร้างชื่อเสียงให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวอินเดียเห็นศักยภาพของไทย
ในโอกาสนี้ ผู้แทนภาคเอกชน ได้กล่าวถึงศักยภาพทางธุรกิจของไทยในอินเดีย ซึ่งมีตลาดใหญ่ และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก คนอินเดียส่วนใหญ่เชื่อมั่นและนิยมสินค้าจากไทย เนื่องจากมีภาพลักษณ์และคุณภาพที่ดี อย่างไรก็ดี ความท้าทายของการทำการค้ากับอินเดีย ได้แก่ ความหลากหลายของพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดอินเดีย กฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้
ภายหลังการรับฟังเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศอินเดียของภาคเอกชนไทย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยติดตามดูแลประเด็นดังกล่าว พร้อมย้ำให้ ผู้ประกอบการที่มาลงทุนต่างประเทศคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ พร้อมขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยสนับสนุนและดูแลผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สามารถเข้ามาขายค้าและลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึง ต้องมีการตอบแทนกลับคืนต่อประเทศที่เราเข้ามาลงทุนด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th