วันที่ 18 มิถุนายน 2559 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับปรุงการให้บริการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ตั้งแต่การเริ่มต้นขอประกอบกิจการ ไปจนถึงขั้นตอนเลิกกิจการ ให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามตัวชี้วัด 10 ด้านของธนาคารโลก
"หน่วยงานทุกส่วนได้มารายงานความคืบหน้าของการปรับปรุงระเบียบขั้นตอนการทำธุรกิจในประเทศไทย พบว่าได้ผลคืบหน้าไปมาก และหวังว่าในการประเมินรอบต่อไปไทยจะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น"
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รายงาน Doing Business 2016 ของธนาคารโลก ครั้งล่าสุด ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ และเป็นมิตรต่อผู้ประกอบการในลำดับที่ 49 จาก 189 ประเทศ โดยประเมินจากขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลา รวมทั้งค่าใช้จ่าย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐปฏิบัติตามแนวทางที่พัฒนาขึ้น เพื่อเอื้อต่อการประกอบกิจการของนักลงทุนให้มากที่สุด และเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทราบถึงสิทธิประโยชน์ และขั้นตอนการให้บริการที่รวดเร็วขึ้นรวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่าเมื่อดำเนินการใด ๆ ไปแล้ว ยังติดขัดหรือขาดความคล่องตัวในจุดใด ก็ให้เร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุนต่อไป"
1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ (Biz Portal) เพื่อให้จัดตั้งธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ
2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง จัดตั้งศูนย์ให้บริการขออนุญาตก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จที่ สนง.เขต
3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ลดขั้นตอนการขอไฟฟ้า ลดเวลาลง 9 วัน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียร
4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน พัฒนาระบบออนไลน์เพื่อสืบค้นข้อมูลรูปแบบที่ดินและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เชื่อมโยงเลขบัตรประชาชน
5) ด้านการได้รับสินเชื่อ ออก พ.ร.บ.หลักประสินเชื่อ ช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน เครดิตบูโร ให้บริการคะแนนเครดิตแก่สถาบันการเงินสมาชิก
6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อยแก้ไขกฎหมายให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถจัดประชุมวิสามัญและตรวจสอบกิจการได้ และได้รับเงินปันผล
7) ด้านการชำระภาษี สามารถชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสและธนาคาร 8,000 แห่ง จัดทำโปรแกรมบัญชีอย่างง่ายแก่ SMEs
8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ บูรณาการข้อมูล ปฏิรูปกฎหมายศุลกากร โครงการนำร่องปล่อยสินค้าล่วงหน้า
9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง แก้ไขกฎหมายบังคับคดี ลดขั้นตอนการขายทอดตลาด นำระบบ E-service มาใช้ และ
10) ด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย แก้ไขกฎหมายให้ SMEs ยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ และนำ E-service มาใช้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th