รัฐบาลร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของจังหวัดระยอง พร้อมยกระดับภูมิภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่ฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศอีกแห่งหนึ่ง วันนี้ (22 มิถุนายน 2559) เวลา 14.15 น. ณ อาคารเอนกประสงค์เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะประชาชน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและความก้าวหน้าของจังหวัดระยอง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน มารอให้การต้อนรับกว่า 1,500 คน
เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมผลงานนิทรรศการต่าง ๆ ของจังหวัดระยอง ได้แก่ โครงการแผนพัฒนาบ้านฉาง โครงการขยายพันธุ์ปะการังเขากวาง และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โครงการประชารัฐและนวัตกรรมกับวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากนั้นชมการแสดงชุด วิถีชาวยอง โดยโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวรายงานว่า จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 3,552 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครอง 8 อำเภอ ตำบล 439 หมู่บ้าน 181 ชุมชน มีประชากร จำนวน 688,999 คน มีอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญ และมีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 2,080 แห่ง อาทิ ปิโตรเคมี การผลิตไฟฟ้า กลั่นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจังหวัดระยองยังให้ความสำคัญกับการนำนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐมาเป็นแนวทางในการพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนและประสานงานนโยบายและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร การแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดสรรอนุมัติงบประมาณเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนี้ 1) การเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2) การดำเนินนโยบายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เกี่ยวกับจังหวัดระยอง อาทิ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง พัทยา โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพัทยา มาบตาพุด โครงการรถไฟรางคู่ทางมาตรฐานช่วงหนองคาย – มาบตาพุด ฯลฯ 3) การสนับสนุนงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือตำบลละ 5 ล้านบาท โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนรากหญ้าได้เป็นอย่างดี
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวกับประชาชนที่รอให้การต้อนรับว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในจังหวัดได้ เพราะฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาอุตสาหกรรม คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ส่วนด้านเกษตรกรรมถือเป็นจุดเด่นของจังหวัดระยอง เพราะมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสามารถต่อยอดการพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ อีกทั้งยังต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างของแต่ละชุมชนให้ได้ โดยภาครัฐพร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัย และนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลและปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพในพื้นที่จำกัดอย่างคุ้มค่า เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ และให้ผลไม้ไทยออกสู่การแข่งขันกับตลาดระดับอาเซียนและระดับโลกได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การท่องเที่ยวของระยองสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นว่ามีความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน และเมื่อความเจริญมากขึ้น จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมีการนำทรัพยากรไปใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมลพิษทางอากาศและทางน้ำ ตลอดจนการทิ้งขยะพิษในที่สาธารณะ ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อีกทั้งความร่วมมือในแนวทางประชารัฐเพื่อดูแลชายฝั่งให้มีความสมดุลกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์และสามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 เพื่อจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาภาคการท่องเที่ยว และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่การขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพและความพร้อมในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นมาตรฐาน และเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียนทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภาพรวมในภูมิภาคตะวันออกที่จะผลักดันให้เป็นพื้นที่ฐานเศรษฐกิจหลักของไทยโดยจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ขยายตัวอย่างมีคุณภาพต่อไป
--------------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th