นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Friday June 24, 2016 11:43 —สำนักโฆษก

นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันนี้ (24 มิ.ย. 59) เวลา 16.30 น. นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่นางออง ซานฯ ตอบรับคำเชิญและเยือนประเทศไทย พร้อมยืนยันความสัมพันธ์เมียนมากับประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ความมั่นคงและมั่งคั่งของเมียนมาคือความมั่นคงและมั่งคั่งของไทยด้วย และย้ำว่าไทยพร้อมที่ร่วมมือกับเมียนมาในทุกๆ ด้าน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ และการเดินทางมาเยือนไทยของนางออง ซานฯ ในครั้งนี้จะเป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – เมียนมา โดยนางออง ซานฯ แสดงความขอบคุณรัฐบาลและประชาชนชาวไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยในวันนี้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักศึกษาไทยซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ตาม Roadmap 3 ระยะ ซึ่งมีการปฏิรูปในทุก ๆ ด้าน ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อออกแบบและวางรากฐานอันมั่นคงและยั่งยืนทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่ และหวังว่าเมียนมาจะมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์นี้

ความร่วมมือด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะดูแลแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อย่างไรก็ดีเพื่อประโยชน์ต่อแรงงานชาวเมียนมาขอให้มีการพิสูจน์สัญชาติก่อนเข้ามาทำงานในไทย ทั้งนี้ นางออง ซานฯ แสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยให้การคุ้มครองและดูแลแรงงานเมียนมาเป็นอย่างดี ทั้งด้านสาธารณสุข และการศึกษา และกล่าวว่าแรงงานชาวเมียนมาเป็นความรับผิดชอบของประเทศเมียนมาที่จะต้องไม่ทิ้งชาวเมียนมาที่อยู่ในไทย โดยเมื่อวานนี้ได้กล่าวกับแรงงานเมียนมาว่าอยู่ในประเทศไทยจะต้องเคารพกฎหมายไทย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานเมียนมาในไทยหลายมาตรการ อาทิ การเตรียมเปิดตัวระบบร้องทุกข์ออนไลน์สำหรับแรงงานผ่านทางเว็บไซต์ การให้บริการระบบโทรศัพท์สายด่วนร้องทุกข์ 1694

ในด้านประมง นางออง ซานฯ กล่าวว่า มีแรงงานเมียนมาจำนวนมากเข้ามาทำงานด้านประมง พร้อมแสดงความห่วงใยว่าจะต้องไม่จับปลาในฤดูวางไข่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแจ้งว่าขณะนี้ไทยได้มีการลงทะเบียนแรงงาน และเรือประมงก็มีการลงทะเบียนและติดตั้งระบบ GPS เพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยยินดีให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมามาโดยตลอด เพื่อนำพาทั้งสองประเทศให้พัฒนาไปพร้อมกัน และพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาตามแนวชายแดนต่างๆ อาทิ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะอาชีพแรงงาน รวมทั้งโครงการผืนป่าอาเซียน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณากำหนดพื้นที่การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย –เมียนมา แห่งที่ 2 เพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่มีมากขึ้นระหว่างไทยและเมียนมา จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน

ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองเห็นพ้องที่จะเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน ระหว่างทั้งสองประเทศและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส และเน้นความยั่งยืน ซึ่งนางออง ซานฯ กล่าวว่าเมียนมาพร้อมที่จะดูแลนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาด้วย และเห็นด้วยกับไทยในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

นางออง ซานฯ กล่าวว่าหากมีอุปสรรคในการส่งเสริมความสัมพันธ์ อยากให้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาที่แท้จริง พร้อมชื่นชมว่าในยามที่เมียนมาประสบปัญหา จะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศไทยมาโดยตลอด หากประเทศไทยประสบปัญหา เมียนมาก็พร้อมช่วยเหลือเช่นกัน

ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน นางออง ซานฯ กล่าวว่าเมียนมาให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเชื่อว่าบทบาทของประชาคมอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ว่าเราจะต้องมีความแข็งแกร่งร่วมกันในฐานะมิตรแท้ที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เมียนมาภายใต้การนำของนางออง ซานฯจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ และมีบทบาทสำคัญในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเชิญนาง ออง ซานฯ ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสาร 3 ฉบับ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้แก่ 1 ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างไทยกับเมียนมา 2 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน 3 บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ซึ่งการลงนามเอกสารทั้ง 3 ฉบับ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ