วันนี้( 27 มิถุนายน 2559) เวลา 14.00 น. ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน "สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ" จัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สถาบันทางการเงิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และกรมบังคับคดี ผู้ร่วมงานประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาชน จำนวน 1,000 คน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน แต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs รายที่ยังมีโอกาสพลิกฟื้น สามารถประกอบธุรกิจได้อีกต่อไป เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกในอนาคต
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้กล่าวรายงานว่าสำหรับกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ กล่าวคือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้อื่น จะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น โอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่มเพื่อ SMEs ไปดำเนินธุรกิจต่อจะสามารถทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวเจ้าหนี้ที่เหลืออยู่มาฟ้อง ในส่วนของ SMEs กลุ่ม Turn Around ที่มาเข้าโครงการของ สสว.จะได้รับประโยชน์จากการนี้มาก สสว.จะประสานงานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟู และมีโอกาสสูงมากที่จะมากู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. โดยทางจะมีการจัดงานในลักษณะนี้ทั่วประเทศในอีก 25 จังหวัด
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่า ร่าง พ.ร.บ.ล้มลาย ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2559 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจ สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจ SMEs จะได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ปัจจุบัน ประเทศไทย เราเป็นประเทศที่ 3 ที่มีการใช้กฎหมายฟื้นฟูกิจการ ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อน SMEs ด้วยกฎหมายฟื้นฟูกิจการว่า ภาคธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นหน่วยธุรกิจที่ก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ การสร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ กระตุ้นการแข่งขัน ทางเศรษฐกิจ กระจายการพัฒนาของประเทศ นำไปสู่การเป็นห่วงโซ่การผลิตให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ จึงเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดันพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของธุรกิจ SMEs มาโดยตลอด โดยได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้เติบโตและอยู่รอด ตลอดจน ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งระบบ ทั้งการเข้าถึง แหล่งเงินทุน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและทุนหมุนเวียน การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกมาตรการทางภาษี การลงทุนเพื่อขยายกิจการ ตลอดจนการหาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มมาตรการส่งเสริมการค้าการลงทุน การหาแนวทางลดอุปสรรคทางธุรกิจ พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจ Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไทยกับต่างประเทศที่มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
อีกทั้ง ได้มีการปรับแผนธุรกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเกิดใหม่ (Start up) ที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 2) กลุ่มที่เติบโตสามารถขยายกิจการ ในประเทศ 3) กลุ่มที่เข้มแข็งสามารถส่งออกไปต่างประเทศ และ 4) กลุ่มที่เลิกกิจการ แต่ยังมีศักยภาพ โดยให้ทุกกลุ่มได้มีโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาตามวงจรธุรกิจและความเหมาะสมของกิจการ รวมถึงมีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจหรือไม่เอื้อต่อศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน รวมทั้งมีการจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูธุรกิจและการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจ ในทุกสาขาได้อย่างมั่นคง และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่าง ห่วงโซ่อุปทานตลาดโลกได้
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทางด้านการเงิน การค้าและการลงทุน ในปัจจุบันมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและสลับซับซ้อน ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ของไทย ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs บางรายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจได้จึงประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้อื่นๆ ลดลง จนถึงระดับที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จนถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาทางการเงิน แต่ยังมีศักยภาพที่ยังสามารถฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งเดิมพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กำหนดนิยาม “ลูกหนี้”เฉพาะบริษัท จำกัด บริษัทมหาชน จำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเท่านั้น ไม่รวมกรณีบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม
ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการจะต้องปรากฏว่าเป็นลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยเป็นหนี้ในจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ สำหรับพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ครอบคลุมการช่วยเหลือในส่วนของนิติบุคคลในรูปแบบบริษัท จำกัด ที่มีหนี้สินจำนวนมากและ ไม่สามารถหาทางออกอื่นนอกเหนือจากการเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือผู้ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ (Turnaround) ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้โดยไม่ต้องถูกบังคับยึดทรัพย์หรือต้องหยุดกิจการ รวมทั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือดูแลหนี้ของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและหนี้ในระดับบุคคลไม่ให้สูงขึ้นในอนาคต และช่วยเหลือกลุ่มที่ประสบปัญหาให้สามารถพลิกฟื้นมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 หมวด 3/2 ที่ให้ “ลูกหนี้” ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่ไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน จำกัด บริษัท จำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ ที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ต่อไป
---------------------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th