วันนี้ (29 มิ.ย.59) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า การประชุม นบข.ครั้งนี้มีหลายเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งเป็นการหารือในการดำเนินการเพื่ออนาคตและการบริหารจัดการข้าวในฤดูกาลใหม่ที่จะออกมา รวมถึงสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2558/59 ซึ่งทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้น ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องนำปัญหาเรื่องข้าวและผลผลิตเรื่องการเกษตรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง หารือร่วมกันทั้งหมดเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายหลักในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนจิตวิทยาและเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจมหาภาค จุลภาค โดยหลายเรื่องมีความเกี่ยวข้องกับประชารัฐ และการปรับปรุงสหกรณ์ให้มีคุณภาพ ทั้งนี้ ทุกเรื่องจะต้องดำเนินการให้มีความก้าวหน้าภายในปี 2560 อย่างไรก็ตามหากมีสิ่งใดที่ยังเป็นปัญหาอยู่จะต้องได้ข้อยุติในเชิงปฏิบัติในเรื่องของความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาที่ติดค้างอยู่ทั้งหมดภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลเสียต่อการดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กบข. ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2558/59 ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มสถานการณ์ข้าวโลกราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตข้าวของโลกและการบริโภคข้าวลดลง รวมไปถึงการส่งออกข้าวของหลายประเทศก็ลดลง จึงทำให้สถานการณ์ข้าวในภาพรวมราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรฐานสารตกค้างในข้าวเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันหรือไม่ในการกำหนดมาตรฐานสารตกค้างที่เข้มงวดดังกล่าวของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีประเทศทางตะวันตกและยุโรปหลายประเทศเริ่มต้องการที่จะให้ประเทศไทยจัดระบบของการปลูกข้าวและระบบการค้าข้าวให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งกำเนิดของข้าวได้ว่ามาจากที่ใด รวมทั้งขณะนี้หากมีการจำหน่ายข้าวให้ประเทศจีน ต้องเป็นโรงสีที่จีนได้ตรวจสอบรับรองแล้วว่าได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นจากมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าว ประเทศไทยต้องมีการผลิตข้าวที่ได้คุณภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ตามมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้หากใช้อย่างมีเหตุมีผลก็ไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า แต่หากใช้แล้วไม่มีเหตุผล และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันก็เป็นการกีดกันทางการค้าที่ไทยจะต้องยกขึ้นมาหารือกับประเทศที่กำหนดมาตรการต่าง ๆ ต่อไป
สำหรับราคาข้าวขณะนี้ ข้าวขาว สูงสุดราคา 8,700 บาท/ตัน และมีบางพื้นที่ราคาเพิ่มขึ้นถึง 9,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ ราคาประมาณ 13,000 บาท/ตัน และคาดว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ส่วนข้าวเหนียว ราคาประมาณ 15,000 บาท/ตัน
พร้อมทั้ง ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกอบด้วย 1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เช่น โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก (ณ 30 พ.ค.59) โดยได้จัดตลาดนัดจำนวน 92 ครั้ง 33 จังหวัด มีปริมาณซื้อขาย 59,420.694 ตัน มูลค่าการซื้อขาย 580.896 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้สูงกว่าตลาดทั่วไป ประมาณ 100 – 800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของข้าว 2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงินของ ธ.ก.ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและกรอบวงเงินงบประมาณมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 59/60 ด้านการเงินของ ธ.ก.ส. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 45,589.38 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ และ4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 เพื่อให้เกษตรกรจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตผ่านการประกันภัยและบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ หรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ รวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต ได้แก่ การลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่มากกว่าแทนการปลูกข้าวและเรื่องปศุสัตว์ รวมถึงการดำเนินการเรื่องนาแปลงใหญ่ ซึ่งได้กำหนดให้การสนับสนุนทั้งหมดประมาณ 400 กว่าแปลง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนสินเชื่อกับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ และดูแลเรื่องภาระดอกเบี้ย 3.5 ขณะที่ให้ ธ.ก.ส. ดูแลภาระดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่ง แต่ให้ประชาชนรับภาระเพียงแค่ 0.01 เท่านั้น รวมทั้งขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการนาแปลงใหญ่ให้สนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็นโครงการระยะยาว 3 ปี เพราะการดำเนินการเรื่องนาแปลงใหญ่ไม่สามารถดำเนินการปีต่อปีได้ ต้องดำเนินการต่อเนื่องจึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้ การดำเนินการขยายระยะเวลาดังกล่าวเพื่อดึงดูดให้ชาวนาหันมารวมกลุ่มกันและเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ซึ่งจะส่งผลดีให้สามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่พอเพียงที่จะสามารถต่อรองในการขายข้าวในราคาที่เหมาะสม
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือพิจารณาเรื่องผลการศึกษาการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว ซึ่งดูแลสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวอย่างครบวงจร ทั้งการสร้าง Awareness คุณค่าข้าว สร้าง Demand ในตลาด สร้างผลิตภัณฑ์ข้าวให้เป็นอัตลักษณ์ของไทย วิเคราะห์ตลาด กำหนดโจทย์วิจัย สร้างเครือข่ายทางธุรกิจและวิชาการ ตลอดจนขับเคลื่อนให้มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวออกสู่ตลาด เช่น น้ำมันรำข้าวสกัดบริสุทธิ์ โปรตีนจากข้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตามที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะว่าเนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีประโยชน์มากจึงเห็นควรให้ดำเนินการขยายไปสู่พืชผลการเกษตรประเภทอื่นด้วยนอกจากข้าว ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการพาณิชย์ของสินค้าเกษตรในรูปแบบมูลนิธิ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ โดยให้เริ่มดำเนินการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวก่อนขยายสู่พืชผลทางการเกษตรประเภทอื่น โดยมอบหมายกระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณเริ่มต้นในการก่อตั้งมูลนิธิจำนวน 750 ล้านบาท
อีกทั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแก้ไของค์ประกอบคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินคดีกรณีข้าวในสต็อกรัฐบาลที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการแทนรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ด้านการค้าภายในประเทศ และให้เพิ่มผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปในคณะอนุกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินคดีกรณีข้าวในสต็อกรัฐบาลไม่ผ่านมาตรฐาน ในการเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินคดีกับข้าวในสต็อกรัฐบาลรวดเร็วและรัดกุมดียิ่งขึ้น สำหรับความคืบหน้าการติดตามผลการดำเนินคดีกรณีข้าวในสต็อกรัฐบาลที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ขณะนี้ตำรวจได้ดำเนินการส่งฟ้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และอัยการแล้ว จำนวน 650 คดี จาก 1,000 กว่าคดี ขณะที่มีจำนวน 20 กว่าคดี อยู่ระหว่างการทบทวนเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และมีจำนวนประมาณ 8 คดีที่ไม่ได้ส่งฟ้อง ซึ่งที่ประชุมให้กลับไปพิจารณาทบทวนตรวจสอบถึงสาเหตุอีกครั้งว่าทำไมถึงไม่ส่งฟ้องคดีเหล่านั้น
พร้อมทั้ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าสถานการณ์ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่กระทบต่อแผนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล รวมทั้งการระบายข้าวจะต้องดำเนินการโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกมาในฤดูใหม่ โดยตั้งแต่ต้นปีได้มีการระบายข้าวไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวนประมาณ 1.7 ล้านตัน และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดประมูลอีกประมาณ 2 ล้านตัน โดยเป็นการประมูลตามคำสั่งซื้อเพื่อส่งออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการประมูลแบบทั่วไปโดยมีทั้งผู้ที่ประมูลซื้อเพื่อขายในประเทศและผู้ที่ประมูลซื้อเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งการระบายข้าวก็จะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องระหว่างที่ข้าวใหม่ยังไม่ออกมา ทั้งนี้เมื่อ คสช. เข้ามาประมาณปลายปี 2557 สต็อกข้าวของรัฐบาล มีจำนวน 18.7 ล้านตัน ปัจจุบันสามารถระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลไปแล้วเหลืออยู่ประมาณ 9.5 ล้านตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะต้องดำเนินการระบายข้าวตามแผนให้แล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า โดยพิจารณาผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ที่จะออกมาประกอบการระบายข้าวด้วย ซึ่งหากข้าวฤดูกาลใหม่ออกมาน้อยการระบายข้าวที่เหลือประมาณ 9.5 ตันก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น
---------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th