วันนี้ (8 กรกฎาคม 2559) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย และการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมดังกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569 และแผนปฎิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบคำสั่งคณะอนุกรรมการตามยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ.2560-2569 พร้อมเห็นชอบตามแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ที่พัฒนาโดยใช้กรอบยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 ได้แก่ การเร่งรัดกำจัดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเน้นมาตรการการเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มความคลอบคลุมของหน่วยบริการสาธารณสุขให้เข้าถึงทุกกลุ่มประชากร การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก การควบคุมยุงพาหะ การป้องกันตนเอง และการกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยา การศึกษาวิจัย พัฒนารูปแบบและนวัตกรรมที่เหมาะกับพื้นที่ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายระดับประเทศ รวมทั้งระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พร้อมการส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ
แผนปฏิบัติการดังกล่าว ได้ดำเนินการตามลักษณะการระบาดมาลาเรียในแต่พื้นที่ ซึ่งมีการจัดแบ่งพื้นที่ความเสี่ยงในระดับอำเภอ/เขต และระดับหมู่บ้าน ส่วนงบประมาณสำหรับการกำจัดโรคไข้มาลาเรียตามแผนปฏิบัติการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) จำนวนประมาณ 2,283 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและค่าใช้จ่ายบุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งงบประมาณร้อยละ 82 ของงบประมาณดังกล่าวจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฎิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ตลอดจนการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผล แผนปฏิบัติการฯนั้น ในระดับนโยบายได้ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการฯเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ โดยมีคณะอนุกรรมการตามยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย สำหรับระดับพื้นที่นั้น มีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผลักดันให้หน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม นำไปปฏิบัติตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค เป็นผู้ถ่ายทอดนโยบาย แนวทางและมาตรการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนการติดตามและประเมินผลโครงการกำจัดไข้มาลาเรียในประเทศไทย ได้ประยุกต์ใช้ตามรูปแบบมาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมทั้ง 5 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบ โดยผ่านคณะกรรมการกำจัดโรคไข้มาลาเรียทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ซึ่งมีการทบทวนผลสำเร็จของแผนการดำเนินงานทุกปี และให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระภายนอกประเมินผลทุก 3 ปี อีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2558 พบอัตราผู้ป่วยทั่วประเทศ 0.38 คน ต่อประชากรหนึ่งพันคน มีอำเภอ/เขตที่ไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียจำนวน 632 อำเภอ/เขต จากทั้งหมด 928 อำเภอ/เขต (ร้อยละ 68.10) จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะดำเนินโครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียตามนโยบายองค์การอนามัยโลกอย่างได้ผล แต่เพื่อให้การกำจัดโรคไข้มาลาเรียมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการดำเนินงานดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพื้นที่ปฏิบัติงานโดยเร่งด่วนต่อไป
********************************
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th