วันนี้ (21 กรกฎาคม 2559) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้ พระนครเหนือ นำคณะนักศึกษา และอาจารย์ ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก ณ เมืองไลพ์ซิก ประเทศเยอรมัน จำนวน 16 คน เข้ารับโอวาทจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่คณะนักศึกษาที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวรายงานว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก World RoboCup Rescue 2016 ณ เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมัน (German) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2559 สร้างชื่อเสียง เกียรติยศก้องโลกให้ประเทศ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยได้รับรางวัล 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย จากการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2016 ให้ประเทศไทยเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 และรางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมที่สุด (Best in Class Mobility) ซึ่งมีทั้งความเร็ว ความแรง และความแข็งแกร่ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรค และเครื่องกัดขวางได้อย่างรวดเร็ว ชนะทีมหุ่นยนต์กู้ภัยจากหลายประเทศซึ่งมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งหมด 24 ทีมจาก 12 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ฮังการี ออสเตรีย เม็กซิโก ตุรกี อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไทย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความดีใจพร้อมกล่าวว่ารู้สึกมีความสุขที่ได้พบนักศึกษาที่ความสามารถนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศ และขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาและคณะอาจารย์ ที่สามารถชนะการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก ซึ่งมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นมหาลัยที่มีชื่อเสียง สร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพมามากมาย นักศึกษาจบมาแล้วมีงานทำ ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ในวันนี้ เราจะต้องเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงให้ได้ โดยจะต้องมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพเช่นนี้ เพื่อรองรับกับการพัฒนาประเทศด้านอุตสาหกรรม 4.0 ในวันข้างหน้า เพราะปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีเพียงไม่กี่แห่ง ที่เป็นที่ยอมรับ แต่จำนวนนักศึกษาในทุกวันนี้มีอัตราการตกงานสูงขึ้น จบการศึกษาแล้วไม่มีประสบการณ์ จึงทำให้ไม่สามารถสัมภาษณ์ผ่านเข้าทำงานได้ มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน มุ่งเน้นผลิตนักศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน ทั้งทางด้านการบริการ การท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ เป็นต้น นักศึกษาจบมาแล้วสามารถทำงานอื่นได้ นอกเหนือจากที่เรียนมา
สำหรับหุ่นยนต์กู้ภัย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ควรที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ได้จริง และสามารถผลิตขายในระยะยาว ทุกวันนี้ รัฐบาลพยายามเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตดังกล่าว ซึ่งหุ่นยนต์กู้ภัยสามารถผ่านการทดสอบและเป็นที่ยอมรับในคุณภาพในระดับโลกมาแล้ว เหลือเพียงแต่นำมาพัฒนาเพิ่มขึ้น เพิ่มเติมความแปลกใหม่ เพื่อในอนาคตประเทศจะสามารถผลิตอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมไปถึงการผลิตไปสู่การจำหน่ายในต่างประเทศ จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวิชาชีพ ร่วมกันคิดค้นและวิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง โดยฝากทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ให้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของงบประมาณที่ขาดแคลนหรือข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าว ให้สามารถผลิตเพื่อนำมาใช้ได้จริง และสามารถต่อยอดเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งจะนำรายได้เข้ามาสู่ประเทศได้ อีกช่องทางหนึ่ง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชม และขอบคุณในนามของรัฐบาลตัวแทนประเทศ สำหรับความภาคภูมิใจที่นักศึกษาเหล่านี้นำกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทย อีกทั้ง คาดหวังให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศในอีก 20 ปี ของยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาประเทศ เพื่อนำประเทศไทยพัฒนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคัง และยั่งยืน ต่อไป
-------------------------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th