นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/59 เห็นชอบให้ร่างระเบียบการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นหน่วยร่วมในการปล่อยกู้ พร้อมปรับแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้รวมธุรกิจการเกษตร-เห็นชอบแผนส่งเสริม วันนี้ (28 ก.ค.59) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2559 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการในการดำเนินการเรื่องแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเอ็มอี และรับทราบรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาทำหน้าที่ได้ให้ความสนใจกับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง ซึ่งวันนี้ได้มีการพูดถึงว่าจะต้องรวมความไปถึงในส่วนของ Start Up ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีเหมือนกัน และต้องใส่คำว่าภาคการเกษตรไปด้วย เพราะในคำจำกัดความไม่ได้เขียนถึงภาคการเกษตรไว้ เพื่อทำให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์เอสเอ็มอีระยะ 5 ปีข้างหน้าให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสอดคล้องกับแผน 20 ปียุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทยด้วย
ด้าน นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้แถลงผลการประชุมว่า ในเรื่องเพื่อพิจารณา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้น ซึ่งมีสาระสำคัญคือ 1. เอสเอ็มอีที่จะกู้ยืมเงินต้องผ่านการวิเคราะห์ตามโครงการ Turn around ว่า มีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม หรือได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว 2. กู้ยืมได้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนประกอบกิจการ แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้เก่า 3. ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นหน่วยร่วมทำการแทน สสว. ในการพิจารณาการกลั่นกรองคำขอกู้ยืม และติดตามดูแลการชำระเงินของลูกหนี้ โดย สสว. จ่ายค่าบริหารจัดการให้แก่ ธพว. ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพียงเดือน ก.ค. 2559 มีเอสเอ็มอีขนาดย่อมสมัครเข้าร่วมโครงการ Turn around แล้ว 10,129 ราย ในจำนวนนี้ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3,469 ราย จึงมีคุณสมบัติเข้าข่ายยื่นขอกู้จากกองทุนพลิกฟื้นได้
นางสาลินี กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ในประเด็นที่ใกล้เคียงกับร่างแก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สรุปได้ดังนี้ คือ 1. ขยายขอบเขตของวิสาหกิจที่ สสว. รับผิดชอบในการดูแลพัฒนาให้รวมถึงกิจการเกษตรด้วย 2. การกำหนดขนาดของเอสเอ็มอี ให้คำนึงถึงรายได้เพิ่มเติมจากจำนวนการจ้างงาน มูลค่าของสินทรัพย์ถาวรและทุนจดทะเบียน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 3. เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ สสว. เสนอแนะงบประมาณแผนบูรณาการในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การพัฒนาเอสเอ็มอีของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 4. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารของ สสว.
นางสาลินี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งแผนฉบับที่ 4 นี้ จะเป็นการพัฒนาให้เกิดเอสเอ็มอี 4.0 โดยจะเน้นเรื่องการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ในแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ สสว. ได้ตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนเอสเอ็มอี จีดีพี เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของจีดีพีประเทศภายในปี พ.ศ. 2564 จาก 42% ในปัจจุบัน เพราะในประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) จะมีสัดส่วนของเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 50% ของจีดีพีประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งเสริมเอสเอ็มอีจะคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไป ดังนั้น สสว. จึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรประเภท Smart Farmers และวิสาหกิจชุมชน พัฒนาขึ้นเป็นเอสเอ็มอีเกษตร หลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมฯ เห็นชอบแผนเอสเอ็มอี 4.0 แล้ว สสว. จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งแผนการส่งเสริมฯ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถและช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 รวม 15 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 2,607.645 ล้านบาท โดยสรุปดังนี้ 1. โครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ 9,473 ราย วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท 2. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว (Strong & Regular SME) จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ 10,436 ราย วงเงินงบประมาณ 469.86 ล้านบาท 3. โครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอี จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ 17,825 ราย วงเงินงบประมาณ 1,630 ล้านบาท (กองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาท) 4. โครงการปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ 10,890 ราย วงเงินงบประมาณ 257.78 ล้านบาท รวมจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ทั้งหมด 48,624 ราย รวมวงเงินงบประมาณ 2,607.64 ล้านบาท
--------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th