ผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday August 1, 2016 15:53 —สำนักโฆษก

วันนี้ (1ส.ค.59) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบร่างรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2558 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยจากสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย และการดำเนินงานบริหารจัดการมลพิษด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมา เมื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค แหล่งกำเนิดมลพิษสำคัญ ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งการร้องเรียนปัญหามลพิษพบว่า มีอีกหลายประเด็นต้องเร่งแก้ไขปัญหา และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการจัดการมลพิษที่ควรดำเนินการ ประกอบด้วย 1) การจัดการคุณภาพอากาศ เช่น การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในภาพรวม อาทิ ควบคุมสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน กำหนดและปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศและมาตรฐานควบคุมการทิ้งอากาศเสีย ทุกประเภท เพื่อรองรับการจัดการมลพิษทางอากาศสำหรับพื้นที่การพัฒนาและนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะและเชื้อเพลิงที่มีมลพิษต่ำ การใช้รถสาธารณะและจักรยาน รวมถึงการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่วิกฤต อาทิ หมอกควันภาคเหนือ หมอกควันภาคใต้ ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง 2) การจัดการคุณภาพน้ำ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีหรือดีมาก ให้ยังคงสภาพดีเช่นเดิม ส่งเสริมและผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย ในรูปแบบ Onsite Treatment Plant หรือ Cluster Treatment Plant หรือ Central Treatment Plant ส่งเสริมการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ 3) การจัดการขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย และสารอันตราย เช่น ต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) เพิ่มศักยภาพการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4) การจัดการมลพิษเชิงพื้นที่ เช่น กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายมลพิษจากิจกรรมเสี่ยงและในพื้นที่เสี่ยง และลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่วิกฤต การเตรียมการเพื่อรองรับปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดสำหรับพื้นที่การพัฒนาและนโยบายรัฐบาล ได้แก่ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน กำหนดให้มีแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลการเดินเรือและการขนส่งทางทะเล กำกับดูแลเฝ้าระวังเพื่อมิให้มีการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายและสารอันตราย เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย (แปลง G) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ของการเคหะแห่งชาติ โดยให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย (แปลง G) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ในการประชุมครั้งที่ 36/2559 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 อย่างเคร่งครัด และนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณา ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ตาม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยและให้ข้อเสนอแนะเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในอาคารด้วย เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นอาคารสูง 28 ชั้น และจะมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการดูแลในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น เรื่องความปลอดภัยในอาคารและนอกอาคาร การดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการอำนวยความสะดวกเรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า ตลอดจนการดูแลรักษาความสะอาดและขยะมูลฝอยต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการเคหะแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับข้อเสนอดังกล่าวและข้อสังเกตของที่ประชุมกลับไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอเพิ่มเติมว่ากรณีการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ชัดเจน ยึดผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง เช่น การสร้างเส้นทางรถไฟ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นทางที่จะเสียผลประโยชน์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยที่ดินและทรัพย์สินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่โครงการต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาในเรื่องจุดตัดของเส้นทางรถไฟกับทางน้ำไหลโดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะทำให้มีน้ำท่วมขังส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ได้ เนื่องจากเส้นทางที่ก่อสร้างอาจสูงกว่าพื้นที่ของประชาชน อีกทั้ง เพื่อลดภาระและผลกระทบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และให้การพิจารณาการดำเนินการเกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพเกิดผลเป็นรูปธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรองวาระและเรื่องต่าง ๆ ให้ตกผลึกก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ พิจารณา เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับเวลาในการประชุมและสามารถนำไปสู่การดำเนินการและปฏิบัติได้ทันที โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานอนุกรรมการกลั่นกรองดังกล่าว

---------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ