วันนี้ (5ส.ค.59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) ครั้งที่ 2/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เนื่องด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ทั้งนี้ มาตรา 18 และ 19 ของพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ให้โอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลัง เฉพาะศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปเป็นของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะมีผลให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กภช. และเป็นฝ่ายปฏิบัติการเกี่ยวกับการเตือนภัยพิบัติปฏิบัติงานภายใต้นโยบายการบริหารการเตือนภัยของ กภช. ต้องเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาด้านการปฏิบัติจากเดิมเป็นกระทรวงมหาดไทย
พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบการถ่ายโอนภารกิจและงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เนื่องด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และที่ประชุมพิจารณาลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ประชุมร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อการถ่ายโอนภารกิจและงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ตามแนวทางของ ก.พ.ร. ได้แก่ การจัดทำข้อมูลแผนงาน/โครงการ งบประมาณ กรอบอัตรากำลัง พร้อมทั้งได้หารือแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 พร้อมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัย รวม 14 หน่วยงาน ซึ่งประธาน กภช. ได้รับทราบการปฏิบัติงาน ปัญหา ข้อขัดข้องและได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงานให้แก่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมได้สั่งการให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาการปฏิบัติการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยไปสู่สากล” เรียบร้อยแล้ว มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ ซึ่งรูปแบบการจัดงานเป็นการเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบงานด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยและนานาประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเชีย ประเทศอินเดีย ประเทศออสเตรเลีย ประเทศศรีลังกา และประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาการปฏิบัติการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า พัฒนาระบบเทคโนโลยีการเตือนภัย ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในการบริหารจัดการภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การเตือนภัยพิบัติ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนโยบายและยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การเตือนภัย โดยมี พลเรือเอก เกาะหลัก เจริญรุกข์ เป็นประธานฯ เสนอ พร้อมเห็นชอบให้มีการดำเนินการต่อไปเพื่อสานต่องานร่างยุทธศาสตร์การเตือนภัยพิบัติฯ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จเป็นฉบับสมบูรณ์ โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับศูนย์เตือนภัยแห่งชาติพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป และให้นำความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่เสนอต่อที่ประชุมในทุกด้านประกอบการพิจารณาเพื่อบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การเตือนภัยพิบัติฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า การจัดทำยุทธศาสตร์การเตือนภัยพิบัติฯ ดังกล่าวควรมีการกำหนดห้วงเวลาการดำเนินการให้ชัดเจน แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และอาจจะมีปรับกรอบแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จากเดิมกำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปีได้ หากคณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการต่อเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการสร้างเครือข่าย บุคลากร แผนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
--------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th