วันนี้ (8 ส.ค.59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 2/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ 2560 - 2564 โดยมอบหมายให้คณะทำงานรับข้อเสนอแนะที่ประชุมประกอบการดำเนินการในรายละเอียดให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ โดยมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กดยช. เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการด้านสื่อออนไลน์และแกนนำเด็กและเยาวชน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ที่ กดยช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแก่เด็กแรกเกิดจนครบอายุ 3 ปี รายละ 600 บาท ต่อคนต่อเดือน รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำระบบการติดตามประเมินในเชิงความคุ้มค่าและผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ 1) ติดตามและประเมินผลโครงการฯ ประจำปี 2559 ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการทั้งกระบวนการ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ประสิทธิ์ภาพและประสิทธิ์ผลของกลไกการดำเนินงาน ตลอดจนผลกระทบจากโครงการ 2) ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสิทธิ์อย่างทั่วถึงทุกช่องทางการสื่อสาร 3) การเยี่ยมเยียนและให้การดูแลครอบครัวเด็กแรกเกิด รวมถึงการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น การปรับสภาพที่อยู่อาศัย การให้การศึกษาและอาชีพ 4) บูรณารการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น การอบรมดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูเด็ก 5) ปรับปรุงกระบวนการบันทึกข้อมูลลงทะเบียนผู้ขอรับสิทธิ์และปรับปรุงคู่มือ ระเบียบหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุน และ 6) ได้รับเลือกเป็นโครงการนำร่องในโครงการ e-payment ภาครัฐ ประกอบด้วย การบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่ากรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคารให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้ในเดือนกันยายน 2559
สำหรับจำนวนผู้มาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2559 รวม 123,605 คน คิดเป็นร้อยละ 96.57 จากเป้าหมายของโครงการฯ จำนวน 128,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยมี 5 จังหวัดที่มาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์มากที่สุด คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดศรีสะเกษ
ส่วนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 ประกอบด้วย 1) รายงานผลการติดตามและการประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี 2) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเพื่อรองรับการลงทะเบียนและการส่งต่อข้อมูลเพื่อการเข้าถึงสิทธิ์อื่น ๆ 3) ปรับปรุงพัฒนาระบบการจ่ายเงิน e-Payment ให้สามารถรับเงินได้ทุกธนาคาร 4) อบรมให้ความรู้แม่ตั้งครรภ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 5) สร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่แม่ตั้งครรภ์ และ 5) ศึกษาวิจัย ติดตามประเมินผล เพื่อวางแผนการพัฒนาโครงการต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนแข่งรถในทาง ที่ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐบูรณาการการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง ซึ่ง พม.โดยกิจการเด็กและเยาวชน รับผิดชอบการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมทั้งดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยเน้นการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา ชุมชน และสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการป้องกัน ดูแล มีภูมิคุ้มกัน และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ 1. การป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วม โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย 1) การอบรมป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ "ค่ายสัญญาใจ สายใยครอบครัว" เพื่อให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าของตนเองเห็นความสำคัญของครอบครัว มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีความรัก ความอบอุ่น กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 150 คน จาก 9 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2) มหกรรมเยาวชนจิตอาสา พาแม่ทำดี กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -15 สิงหาคม 2559 ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รู้คุณค่าของความกตัญญูรู้คุณ มีความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น และเอื้ออาทรในครอบครัว และร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม กลุ่มเป้าหมาย 200 คน
2. การสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็ก โดยความร่วมมือระหว่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม บ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่งทั่วประเทศ และจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน กรุงเทพฯ 3. การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนแข่งรถในทางอย่างยั่งยืน เช่น การประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาแข่งรถในทาง ออกตรวจระเบียบสังคมในพื้นที่ ให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลเด็กอย่างเหมาะสมกับผู้ปกครอง และ4. สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบันรวม 456 แห่ง แบ่งเป็นการดำเนินงานในปี 2558 จำนวน 228 แห่ง และขยายผลในปี 2559 อีกจำนวน 228 แห่ง
รวมทั้งได้รับทราบผลการรณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย 4 ช่วงวัย ( อายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42 เดือน) ประจำปี 2559 โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 4 - 8 กรกฎาคม 2559 ณ สถานบริการสาธารณสุขศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั่วประเทศทุกแห่ง มีเป้าหมายการคัดกรองทั้งประเทศในช่วงอายุและเวลาดังกล่าว จำนวน 40,000 คน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานพบว่า ภาพรวมประเทศมีการคัดกรองพัฒนาการครอบคลุมเป้าหมายร้อยละ 80.55 ในจำนวนนี้พบสงสัยพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 23.73 พบพัฒนาการล่าช้า ส่งต่อแพทย์เฉพาะทางดูแลทันที ร้อยละ 0.46 โดยเด็กกลุ่มที่พบสงสัยพัฒนาล่าช้านั้น พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กจะได้รับคำแนะนำวิธีสอนการดูแลกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการให้ครบทุกด้านต่อที่บ้าน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้อย่างละเอียด พร้อมมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เฝ้าติดตาม ย้ำเตือนพ่อแม่ มิให้ละเลยการดูแลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนำกลับมาให้บุคลากรสาธารณสุขประเมินพัฒนาการซ้ำอีกครั้ง ภายใน 30 วัน เพื่อเป็นการดูแลพัฒนาการให้เป็นไปตามวัย ซึ่งข้อมูลส่วนนี้สถานบริการต่าง ๆ จะรายงานความคืบหน้าให้กระทรวงสาธารณสุขทราบภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2559 และจะรายงานที่ประชุมรับทราบต่อไป
---------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th