คำแถลงการณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 10 สิงหาคม 2559 เวลา 18.05 น.
บัดนี้การออกเสียงแสดงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมเสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้รับแจ้งผลอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่าทั้งร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงผ่านการออกเสียงประชามตินั่นเอง
คณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับแต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ทำงานอย่างหนักทั้งในการยกร่างและการชี้แจงต่อประชาชน ขอขอบคุณคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชี้แจง การดูแลการออกเสียง และการรักษาความสงบเรียบร้อย ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญที่สุดคือขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทั้งหลายที่ออกไปใช้สิทธิในครั้งนี้เป็นจำนวนมากถึงประมาณเกือบร้อยละ 60 และไม่ว่าท่านจะเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงหรือไม่ ได้ออกไปใช้สิทธิหรือไม่ และลงประชามติอย่างไรก็ตาม ผมต้องขอบคุณที่ได้ช่วยกันรักษากฎเกณฑ์กติกาและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจนเหตุการณ์ส่วนใหญ่ผ่านไปด้วยดี ไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรง ดังที่อาจมีผู้วิตกกังวลหรือคาดเดา ผมเห็นภาพพ่อแม่พี่น้อง คนชรา คนพิการ ออกไปใช้สิทธิกันท่วมท้นเห็นแล้วชื่นใจจริง ๆ ผมขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาบรรยากาศดี ๆ เช่นนี้ตลอดไป โดยเฉพาะในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในอีกประมาณหนึ่งปีข้างหน้า สำหรับความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนตัวที่อาจมีผู้สมหวังหรือผิดหวัง ถูกใจหรือไม่ถูกใจในร่างรัฐธรรมนูญและผลการออกเสียงประชามติย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับในการจัดทำรัฐธรรมนูญทุกครั้งและในทุกประเทศ แต่ผมใคร่ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลดังกล่าว บัดนี้ การออกเสียงประชามติยุติลงแล้ว แต่ภารกิจของท่านและผมยังไม่ยุติ ขอให้เราทั้งหลายทิ้งความเห็นต่างความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือ รับ ไม่รับ ไว้ในหีบลงคะแนนแล้วร่วมกันก้าวต่อไปข้างหน้า ภารกิจที่รอเราอยู่ยังมีอีกมากและอาจยากลำบากกว่าที่ผ่านมา นั่นคือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นให้ได้ การปฏิรูปประเทศ การยุติความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองภายใต้กติกาฉบับใหม่
จนถึงบัดนี้ อะไรที่เคยรู้สึกว่าคลุมเครือต้องถือว่ามีความชัดเจนแล้วการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามโรดแม็ปหรือขั้นตอนที่ผมเคยประกาศไว้ทุกประการนับจากขั้นตอนที่ 1 คือเมื่อ คสช. เข้ามาควบคุมสถานการณ์จนถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและการจัดตั้งรัฐบาลรวม 3 เดือน ขั้นตอนที่ 2 เริ่มจากการจัดตั้งรัฐบาลนี้เมื่อ 2 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกประมาณ 1 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า ส่วนขั้นตอนที่ 3 จะเริ่มเมื่อมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปและจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความชัดเจน และความมั่นใจของพี่น้องทั้งหลาย ผมขอรายงานให้ทราบถึงสิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้ไป ดังนี้
1. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชามติตามประเด็นคำถามพ่วง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้วและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความถูกต้องเสร็จแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์เขียนร่างรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ลงในสมุดไทย ซึ่งที่จริงก็ได้เตรียมการไว้ก่อนบ้างแล้ว หลังจากนั้น ผมจะได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงพิจารณาและลงพระปรมาภิไธยต่อไป ซึ่งจะใช้เวลารวมแล้วไม่เกิน 3 เดือน
2. เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนจะเริ่มใช้บังคับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ โดยเฉพาะ 4 ฉบับแรกซึ่งจำเป็นต่อการเลือกตั้งจะต้องสำเร็จลงก่อนฉบับอื่นๆขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะจัดทำกฎหมายหลายสิบฉบับและเตรียมการอื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดไว้คู่ขนานกันไปซึ่งก็ได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในระหว่างนี้ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามบทเฉพาะกาลจนกว่าองค์กรใหม่จะเข้ามารับช่วงตามกติกาที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3. การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ อันจำเป็นต่อการเลือกตั้งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยากลำบากไม่น้อยไปกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีขั้นตอนอีกมากเช่น ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบความถูกต้องด้วย แต่น่าจะเสร็จสิ้นจนประกาศใช้ได้ไม่เกินกลางปี 2560 หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือนซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2560 อันยังคงเป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ หากสถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีความสงบสุขดังเช่นปัจจุบันนี้
สถานการณ์บ้านเมืองโดยทั่วไปในขณะนี้ แม้จะดูว่ามีความสงบเรียบร้อยดี เพราะพี่น้องทั้งหลายรู้สึกได้ว่ายังคงสามารถใช้ชีวิต ประกอบสัมมาอาชีพ และไปมาหาสู่กันได้เป็นปกติ นักท่องเที่ยว นักลงทุน ยังเดินทางเข้ามาตามปกติ การสนทนาปราศรัยระหว่างญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าไม่ต้องหวาดระแวงเหมือนเมื่อก่อนว่าใครเป็นใครสีใดหรืออยู่ฝ่ายใด สิทธิเสรีภาพยังมีอยู่ทุกประการ แม้จะมีผู้บิดเบือนว่าถูกจำกัดตัดสิทธิแต่ก็เห็นได้ว่าถ้าสุจริตและไม่ได้ทำผิดกฎหมายก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว ทุกคนยังสามารถกระทำการใด ๆ ก็ได้ ทั้งยังสามารถแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียนรัฐบาลได้ดังที่ท่านได้เห็นได้ยินทุกเมื่อเชื่อวันมิฉะนั้นท่านจะทำได้หรือที่สำคัญในช่วงเวลานี้ประเทศไทยยังได้รับความเชื่อมั่นการยกย่องและการจัดอันดับในขั้นที่น่าพอใจในด้านต่าง ๆ จากนานาประเทศและประชาคมโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงเป็นไปตามปกติรัฐบาลทุกประเทศให้เกียรติยกย่องประเทศไทย องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่ารัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล องค์กรอิสระ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยทำงานไม่ได้ดังในอดีต อยากให้ท่านลองเปรียบเทียบสภาพบ้านเมืองในวันนี้กับบ้านเมือง และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างน้อย ท่านอาจถามตัวเองว่าทุกวันนี้ท่านมีความสุขสบายใจมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผมขอเรียนพี่น้องทั้งหลายว่า ทุกวันนี้ใช่ว่าบ้านเมืองของเรานั้นจะปราศจากปัญหาโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว เพราะแม้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนโดยเฉพาะฝ่ายเอกชนที่ร่วมกันทำงานตามแนวทางประชารัฐจะพยายามคืนความสงบสุขแก่ประชาชน ยุติความขัดแย้ง เยียวยาความบอบช้ำของบ้านเมือง มุ่งมั่นแก้ปัญหาเดิม ๆและนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม แต่ก็ยังมีผู้ไม่พอใจ หรือผิดหวังกับความปกติสุขเช่นนี้ ยังคงมุ่งมั่นทำลายและทำร้ายประเทศ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่หยุดหย่อน อีกทั้งยังจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันอันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนอย่างรุนแรงโดยใช้ช่องทางสื่อออนไลน์บ้าง ส่งข้อความเข้ามาจากต่างประเทศบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องดูแลมิให้ปัญหาเหล่านี้เป็นภยันตรายคุกคามความสงบสุขของประชาชน และความมั่นคงแห่งชาติ แต่ขอยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐจะอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรมอย่างน้อยอำนาจของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปทั้งนี้ เพื่อให้ความอุ่นใจ สร้างความมั่นใจให้แก่พี่น้องทั้งหลายไปอีกระยะหนึ่ง จึงขอให้ผู้คิดร้ายต่อประเทศให้ยอมรับนับถือกฎหมาย และคำนึงถึงพลังประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมนี้ด้วย
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะมาถึงในอีกประมาณหนึ่งปีเศษนับจากนี้ ระหว่างเวลานี้รัฐบาลและพี่น้องทั้งหลายยังคงมีภาระหน้าที่ร่วมกันในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการพัฒนาประเทศต่อไปอีกทั้งยังมีภารกิจยิ่งใหญ่ที่รอคอยอยู่และเป็นความหวังของชาติ เป็นทางรอดของบ้านเมือง นั่นคือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยถามกันว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ความจริงคำตอบมีอยู่แล้วว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานจึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องทำอย่างหนึ่งให้เสร็จก่อนแล้วจึงไปทำอีกอย่าง เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนความเคยชินเดิม ๆ เปลี่ยนกรอบความคิด เปลี่ยนวิธีการจากที่เคยทำมาหลายปี จึงไม่อาจสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาอันสั้น หากแต่ต้องลงมือดำเนินการคู่ขนานไปกับเรื่องอื่น ๆ และต้องค่อยทำค่อยไป ต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความขัดแย้งไปด้วย
รัฐบาลนี้ได้เริ่มทำสิ่งเหล่านี้มาแล้วตลอด 2 ปีที่ผ่านมาโดยการจัดให้มีกฎหมายประมาณ 190 ฉบับ หลายฉบับเป็นกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจการค้าการลงทุน การปรับระบบภาษีอากร การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย และการปฏิบัติตามพันธะระหว่างประเทศ กฎหมายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประเทศชาติและประชาชนรอคอยมานานปี แต่ออกมาในปัจจุบันจะกระทำได้ยากในเวลาที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งสูง หรือรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทั้งได้ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ปรับโครงสร้างการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษา ปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการให้ทันกับยุคดิจิทัลและสามารถสนองความต้องการของประชาชน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดต่อกับทางราชการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ตั้งกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือตั้งแต่ผู้เสียหาย โจทก์ พยาน จนถึงจำเลย ขจัดการทุจริตคอรัปชั่นโดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น แก้กฎหมายเพิ่มโทษ จัดตั้งศาลคดีทุจริต ตลอดจนจัดการกับคดีสำคัญ ๆ ที่ค้างคามายาวนานโดยเฉพาะคดีทุจริตดำเนินการทวงคืนผืนป่าและที่ดินเพื่อเร่งนำมาคืนให้ประชาชนใช้ประโยชน์ เร่งรัดขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวางแนวทางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวเพื่อให้คนในชาติรู้เป้าหมายในการพัฒนาประเทศว่าเราจะเดินต่อไปในทิศทางใดก่อนที่จะส่งให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งรับช่วงไปดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
ปัญหาที่ท้าทายและหนักหน่วงยังรอเราอยู่ข้างหน้าอีกมาก ผมซาบซึ้งและขอขอบคุณในความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของท่านที่มีต่อ คสช. และรัฐบาล พลังประชามติครั้งนี้มีความหมายมากต่ออนาคตของประเทศ อย่างน้อยก็แสดงให้โลกรู้ว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยคิดอย่างไรต้องการอย่างไรกับประเทศของตน พลังของประชาชนไม่อาจประมาทได้เลย ดังนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลโดยเฉพาะผมเองจึงยิ่งต้องใช้ความพยายาม ทุ่มเทสติปัญญา และเวลาที่เหลืออยู่ให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนให้หนักขึ้นเพื่อให้สมกับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของท่านทั้งหลายโดยยึดถือความสุจริตการมีธรรมาภิบาลและความไม่ประมาทในการใช้อำนาจหน้าที่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนข้อใดที่รัฐธรรมนูญรับรอง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้อยู่แล้ว เช่น การให้การศึกษา การให้บริการสาธารณสุขโดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาทุกศาสนา จะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ประเทศชาติของเราจะต้องเป็นสังคมที่มีสันติสุข มีความสงบเรียบร้อยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน มีความเป็นธรรมถ้าว่าตามตัวบทกฎหมายแล้วรัฐบาลอาจดูเหมือนว่าเป็นผู้นำในการดำเนินการเหล่านี้ แต่โดยความเป็นจริงทุกคนต้องเดินเคียงคู่ไปด้วยกันเพื่อว่าเราทั้งหลายจะสามารถก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้บางคนจะยังมีความเห็นแย้ง หรือความเห็นต่างกันอยู่บ้างก็ตาม ถ้ามีสิ่งใดที่ คสช. และรัฐบาลต้องการความร่วมมือจากท่านหรือมีเรื่องที่ต้องเรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบ ผมจะขอเวลาชี้แจงเช่นนี้อีกในโอกาสต่อไป
ขอบพระคุณครับ สวัสดีครับ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th