วันนี้ (16 สิงหาคม 2559) เวลา 12.30 น. นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการเสวนาระหว่างผู้นำ (Leaders’ Discussion) หัวข้อ “Transforming Nations through Creativity and Innovation” ในการประชุม International Conference on Blue Ocean Strategy ณ Putrajaya International Convention Center เมืองปุตราจายา โดยพลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมรัฐบาลมาเลเซียสำหรับความคิดริเริ่มจัดการประชุม International Conference on Blue Ocean Strategy และกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่เชิญเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้
การเสวนาระหว่างผู้นำ ในหัวข้อการพัฒนาประเทศโดยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ตามแนวคิดของยุทธศาสตร์ทะเลสีคราม (Blue Ocean) จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมในยุคที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชะลอตัว การแข่งขันระหว่างกันแบบทะเลสีแดง (Red Ocean) จึงมีแนวโน้มสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเรากำลังอยู่ในโลกที่ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (rapid pace of change) กลายเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เผชิญชะตากรรมร่วมกัน (Global Commons) มากขึ้นจากโลกที่เชื่อมต่อกัน (Connected World) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาวะโลกร้อน ปัญหาหมอกควันข้ามชาติ ปัญหาก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น ปัจจุบันคนในโลก เวลาสุขก็จะสุขด้วยกัน และเวลาทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน
ภายใต้โลกที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (Independent World) ในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ จำต้องปรับกระบวนทัศน์สู่การ “คิดนอกกรอบเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ปรับจากการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมที่เหมือน ๆ กันในตลาดเดียวกัน จากการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ใน "ทะเลสีแดง" สู่การโลดแล่นไปด้วยกันภายใต้ "ทะเลสีคราม" ด้วยการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ได้มุ่งเอาชนะในการแข่งขัน หากแต่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดใหม่ๆ โดยการแปลง "คุณค่า" ออกมาเป็น "มูลค่า" ผ่านความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ พัฒนารากเหง้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นถักทอออกมาเป็นนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพื่อนำตัวเองออกจากการแข่งขันแบบเดิมๆ
การเสวนาครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีให้ผู้นำร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในบริบทของแต่ละประเทศเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายในประเทศเพื่อสอดรับกับความท้าทายใหม่ของโลกรวมถึงหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้ทะเลสีครามเป็นทะเลที่มีคลื่นสงบมีความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นทะเลแห่งความหวังและโอกาส (Blue Ocean of Hope and Opportunities) ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาของประเทศ และให้ทุกประเทศสามารถเติบโตและเข้มแข็งเดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำหรับประเทศไทยนั้น ขณะนี้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ 1) การขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมวัยชรา 2) ประสิทธิภาพของแรงงานไทยที่พัฒนาช้ากว่าเทคโนโลยีการผลิตของโลกและขีดความสามารถในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในภาพรวม 3) ธุรกิจใหม่ของไทยยังขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) ตลาดคู่ค้าสำคัญเช่นสหรัฐฯ ยุโรปและจีนเผชิญสภาวะถดถอย 5) มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยสู่ฐานการผลิตที่มีค่าแรงต่ำกว่า 6) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุขอนามัยของประชาชน ภัยธรรมชาติ และความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ประเทศไทยจึงอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศเพื่อวางรากฐานให้ประเทศมีความเข้มแข็งเพื่อรองรับกับความท้าทายข้างต้นโดยมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน บนพื้นฐานของการเติบโตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นในการปรับโมเดลเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำประเทศออกจาก “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก สู่“โมเดลประเทศไทย 4.0.” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (“Value–Based Economy) รัฐบาลจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี (2560-2579) และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) โดยตั้งเป้าพัฒนาประเทศสู่ ประเทศไทย 4.0 ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีคนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวทาง ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเพื่อผลิตกำลังคน สร้างพลังสังคม สานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง กระจายความมั่งคั่งและโอกาสอย่างถ้วนทั่วและเป็นธรรม ยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ด้วยหลัก "4Ss" อันประกอบด้วยการพิทักษ์รักษาโลก (Saved the Planet) การรักษาสันติภาพ (Secured Peace) การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) และ การปันความเจริญรุ่งเรือง (Shared Prosperity)
องค์ประกอบของ ประเทศไทย 4.0 มีสามประการ ได้แก่ 1) การยกระดับประเทศสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) ด้วยการปรับโครงสร้างเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา รังสรรค์ผ่านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากขึ้น 2) การมุ่งให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากความเจริญและการพัฒนา เปลี่ยนความมั่งคั่งและโอกาสที่กระจุก เป็นความมั่งคั่งและโอกาสที่กระจาย เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน (Inclusive Society) 3) การเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ทำลายสุขภาพและสภาพแวดล้อม (Sustainable Growth & Development )
รัฐบาลจึงได้ผนึกกำลังประชารัฐเพื่อขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0 พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินในการสนับสนุน SMEs ทั้งด้านการวิจัยพัฒนาและการออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งจัดให้มี “ที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี” ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาของโรงงาน รวมทั้งสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีให้ SMEs มี Productivity และสร้างนวัตกรรมต่อยอดมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 รัฐบาลได้เน้นในสองเรื่องสำคัญ คือ
1) การส่งเสริมการรังสรรค์นวัตกรรม รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพิ่มระดับการวิจัยและพัฒนาไปสู่ 1% ของ GDP โดยการลงทุนของรัฐเอง ควบคู่กับการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจให้เอกชนสร้างนวัตกรรมใน 4 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ SMEs เอกชนไทยรายใหญ่ บรรษัทข้ามชาติ และ วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)
2) การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy) ด้วยการลงทุนใน Digital Infrastructure อาทิ การสร้างเครือข่ายบรอดแบรนด์ทั่วประเทศ การจัดทำกฎหมาย Cyber Laws ที่ครอบคลุมตั้งแต่ความปลอดภัยไปจนถึงธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างชุมชนเมืองและพื้นที่ห่างไกล
รัฐบาลยังได้ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตัลและอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจรโดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษีดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทั้งนี้ การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมหรือ First s-curve จะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 New S-curve จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญ ทั้งหมดจะเป็นการสร้าง “New Start-ups” ต่างๆ อีกมากมาย
รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะสร้างเมืองนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม First และ New S-Curve ดังกล่าว โดยเริ่มด้วยโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่จัดตั้งภายในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (SciencePark) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (High Value added) โดยเน้นอาหารที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าสูง เช่น อาหารรองรับสังคมสูงวัย อาหารสำหรับผู้ป่วยและความต้องการเฉพาะด้าน (Functional Foods) และ อาหารฮาลาล ทั้งนี้ จะเป็นเมืองที่มีบริษัทอาหารระดับโลกทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีนวัตกรรมห่วงโซ่เชื่อมโยงไปถึง SMEs และมีธุรกิจ startup ในสาขาอาหาร (Food-based Start Up) เข้ามาลงทุน พร้อมๆกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ "วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์" หรือที่เรียกว่า "Culture & Creative Economy" โดยการแปลง "คุณค่า" ของความเป็นไทย หรือ Cultural DNA ของคนไทยออกมา เป็นการสร้าง "มูลค่า" ผ่าน Creative Champions 5 F อันประกอบด้วย มวยไทย (Fighting) เทศกาลต่างๆ (Festivals) เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง อาหารไทย (Food) แฟชั่นไทย (Fashions) และ ภาพยนตร์ เอนิเมชั่น และเกมส์ (Films, Animation & Games))
นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Talent Mobility) เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรวิจัยของภาคเอกชน โดยรัฐอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยของรัฐ ในมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย สามารถทำงานกับภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพื่อกลับมาสอนนักศึกษาด้วยความรู้ภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นที่จะก่อให้เกิดผลการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างเต็มศักยภาพ
รัฐบาลได้ร่วมมือกับอาเซียนภายใต้ข้อริเริ่มกระบี่ (Krabi Initiative) ในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม 8 สาขา คือ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) การบริหารจัดการน้ำ (Water Management) นวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Innovation) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เศรษฐกิจดิจิตอล สื่อใหม่ และเครือข่ายสังคม (Digital Economy, New Media and Social Networking) เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) และวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Science and Innovation for Life) นอกจากนี้ ยังได้มีความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน อาทิ ร่วมมือกับกลุ่ม CLMV มาเลเซียรวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอีกด้วย ตลอดจนมีความร่วมมือกับหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์กับอีกหลายประเทศ
นายกรัฐมนตรีเห็นว่าท่ามกลางสภาวะการแข่งขัน ประเทศต่างๆ สามารถที่จะร่วมมือกันเพื่อให้ทะเลสีครามเป็นทะเลที่มีคลื่นสงบมีความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นทะเลแห่งความหวังและโอกาสผ่านความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ดังนี้
(1) การแสวงหาจุดแข็งของแต่ละประเทศและสนับสนุนกันและกัน ด้านการวิจัยพัฒนาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจร่วมกันศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าและบริการ ภายใต้ ASEAN brand เพื่อรองรับตลาดด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อาหาร สิ่งแวดล้อม พลังงาน สินค้า lifestyle ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค
(2) ไทยดำเนินโยบาย Thailand + 1 และส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคีระหว่างประเทศที่มีรายได้สูง รายได้ปานกลางและรายได้น้อย เพื่อช่วยมิตรประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคที่สนใจร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น หากกลุ่มประเทศในแอฟริกา หรือ กลุ่มประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกมีความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับไทยทั้งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SEP for SDGs) ความร่วมมือสาขานวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ สาขาอื่นที่มีความเข้มแข็ง หรือ สาขาที่สนใจไทยก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
นายกรัฐมนตรี หวังว่าทะเลสีครามแห่งนี้ จะเป็นทะเลแห่งความหวังและโอกาส โดยประเทศไทยประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมและบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อสร้างทะเลแห่งอนาคตร่วมกัน. และเชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้จะทำให้ทุกประเทศสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
ทั้งนี้ เมื่อเสร็จภารกิจนายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในเวลาประมาณ 14.45 น.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th